วันพฤหัสบดี ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:21 น.

การเมือง

ชูผลงาน “เฉลิมชัย” ฟื้นวิกฤตพะยูนได้ผล หลังได้งบกลางมาแก้ปัญหา บินโดรนพบ 23 ตัว สุขภาพดีแหวกว่ายทะเลตรัง  

วันอังคาร ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2568, 19.14 น.

 เมื่อวันที่ 29  เมษายน 2568 จากกรณีศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 (ตรัง) โดยทีมเจ้าหน้าที่ได้นำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ขึ้นบินสำรวจประชากรพะยูน และสำรวจสภาพหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญ ในช่วงเวลาน้ำขึ้น บริเวณเกาะลิบง และเกาะมุกด์ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของพะยูนในทะเลตรัง พบว่า สามารถบันทึกภาพฝูงพะยูนได้มากถึง 23 ตัว โดยในจำนวนนี้ พบคู่แม่ลูก 1 คู่ กำลังว่ายน้ำหากินอยู่ใกล้กัน บริเวณเกาะลิบง แสดงให้เห็นถึงการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นในพื้นที่

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้สังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของพะยูน เช่น การหาอาหาร การรวมฝูง และการพลิกตัว ซึ่งเป็นพฤติกรรมปกติของพะยูนที่มีความสุขและรู้สึกปลอดภัย จากการประเมินความสมบูรณ์ของร่างกาย (Body Condition Score - BCS) ของพะยูนที่พบ พบว่าอยู่ในเกณฑ์ 2/5 และ 3/5 ซึ่งหมายถึงพะยูนส่วนใหญ่อยู่ในสภาพร่างกายระดับปานกลาง ไม่ผอมหรืออ้วนจนเกินไป และมีอัตราการหายใจอยู่ที่ 3-4 ครั้งต่อ 5 นาที ซึ่งถือเป็นอัตราปกติ บ่งชี้ว่าพะยูนในฝูงนี้มีสุขภาพโดยรวมที่ค่อนข้างดีนั้น

นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ที่ปรึกษา รมว.ทส.) กล่าวว่า นับเป็นข่าวดีของคนไทย และสะท้อนถึงการทำงานอย่างจริงจังและเอาใจใส่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทึ่ให้ความสนใจติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เมื่อพบว่าแนวโน้มประชากรพะยูนลดลงอย่างรวดเร็ว และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากขาดแหล่งอาหาร โดยลงพื้นที่ตรวจสอบและสั่งการให้ 2 หน่วยงานคือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับเครือข่ายเข้าคลี่คลายปัญหาพะยูนเกยตื้น เร่งฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรม และแหล่งอาหาร โดยผลักดันขอรับการจัดสรรเงินงบกลาง ประจำปีงบประมาณ 2568 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น จำนวน 615,163,000 บาท มาดำเนินการ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดคือ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล

ที่ปรึกษา รมว.ทส. เผยว่า สำหรับมาตรการที่ ดร.เฉลิมชัย สั่งการและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 1) เพิ่มประสิทธิภาพการสำรวจประชากรพะยูนด้วยอากาศยานไร้คนขับชนิดปีกตรึงและแบบสำรวจการพบเห็นพะยูนใน 7 พื้นที่หลักได้แก่ระนอง พังงาตะวันตก อ่าวพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และ สตูล 
 2) ประกาศพื้นทึ่คุ้มครอง และบังคับใช้มาตรการกำหนด 13 เขตในพื้นที่อ่าวพังงา เป็นพื้นที่คุ้มครองแบบพลวัต โดยเร่งประกาศเพิ่มเติมจากข้อมูลที่เปลี่ยนไปรวมถึงการดำเนินงานผ่านหน่วยงานท้องถิ่นและภาคประชาชน
 3) ช่วยเหลือพะยูนที่ยังมีชีวิต กำหนดแผนช่วยเหลือพะยูนอาหารทดแทนในธรรมชาติระยะเร่งด่วน 2 พื้นที่คือ อ่าวพังงาและตรัง เตรียมคอกอนุบาลในทะเล 2 แห่ง พัฒนาศูนย์ช่วยชีวิตตรังทีมอาสาและความพร้อมของอุปกรณ์โดยมีการจัดเตรียมทีมสัตวแพทย์และชุดลาดตระเวณเคลื่อนที่เร็ว เฝ้าระวังบริเวณพื้นที่หลักซึ่งเป็นแหล่งพะยูนอาศัยโดยหากพบการเกยตื้นทีมเคลื่อนที่เร็วจะเข้าปฐมพยาบาลโดยทันที 
 4) แผนฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลโดยสร้างบ่อเพาะพันธุ์หญ้าทะเล รวมไม่น้อยกว่า 100 ไร่ มีนวัตกรรมการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในธรรมชาติ 1,000ไร่ต่อปี พร้อมผนึกกำลังภาคเอกชนและชุมชนสู่กลไกคาร์บอนเครดิต

 ทั้งนี้ยังมอบหมายให้ทั้งสองกรมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมพิทักษ์พะยูน เพื่อประสานงานและดำเนินการอนุรักษ์พะยูนอย่างมีประสิทธิภาพ
 
 

หน้าแรก » การเมือง

ข่าวในหมวดการเมือง