วันเสาร์ ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 13:42 น.

การเมือง

 "ธีรรัตน์" แจงสภาฯถึงหลักเกณฑ์แก้ปัญหาสถานะบุคคล คืนศักดิ์ศรีคนไร้สัญชาติ เร่งรัดกระบวนการขอสิทธิใน 5 วัน

วันพฤหัสบดี ที่ 03 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 18.01 น.

"ธีรรัตน์" ตอบกระทู้ถามประเด็น "การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"  ย้ำ เป็นกลไกสำคัญในการทำให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษย์ และได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย พร้อมดำเนินการด้วยความถูกต้อง และเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ที่รัฐสภา นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร ถึงนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยระบุว่า รัฐบาลตระหนักถึงความเดือดร้อนของผู้ไร้สัญชาติซึ่งมีมากกว่า 140,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชนที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติ แม้มีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติของรัฐ

“การได้รับสัญชาติไทยไม่ใช่การแจกสิทธิหรือให้ใครแค่แห่มาออกลูกแล้วได้บัตรประชาชน แต่คือการจัดการปัญหาที่สะสมมายาวนาน เป็นการยืนยันว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยอย่างแท้จริง” น.ส.ธีรรัตน์กล่าว

เธอยกตัวอย่างว่า เด็กหลายหมื่นคนที่เกิดบนแผ่นดินไทย พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ เรียนหนังสือไทย สวดมนต์ไหว้พระ และเคารพธงชาติทุกเช้า แต่กลับไม่สามารถเข้าถึงสิทธิเหมือนเพื่อนร่วมชั้นเรียน ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเรียนหรือสมัครงานตามระบบได้

เพื่อแก้ปัญหานี้ กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศหลักเกณฑ์เร่งรัดการพิจารณาให้สัญชาติไทยแก่บุคคลที่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งได้ปรับลดระยะเวลาดำเนินการจากเดิม 180 วัน เหลือเพียง 5 วัน หากเอกสารหลักฐานครบถ้วนและผ่านการตรวจสอบพฤติกรรมอย่างละเอียด

“นี่ไม่ใช่การลดขั้นตอนจนหละหลวม แต่เป็นการทำงานที่มีความรัดกุม ใช้ข้อมูลจากหลายหน่วยงาน บุคคลที่ยื่นคำขอต้องเกิดในประเทศไทย ไม่มีสัญชาติอื่น มีข้อมูลอยู่ในทะเบียนของรัฐ และต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน” เธอกล่าว พร้อมย้ำว่า หากพบการให้ข้อมูลเท็จหรือพฤติการณ์อันเป็นภัยต่อความมั่นคง กระทรวงมหาดไทยจะเพิกถอนสัญชาติไทยและดำเนินคดีตามกฎหมาย

น.ส.ธีรรัตน์ ยังเน้นย้ำบทบาท “ผู้นำท้องที่” ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและผู้นำชุมชน ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือและประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์สิทธิในพื้นที่ห่างไกล พร้อมยกตัวอย่างว่า หลายครั้งผู้ใหญ่บ้านเองเป็นผู้พาเด็กหรือผู้สูงอายุไปยื่นเรื่องที่อำเภอ ซึ่งสะท้อนภาพระบบราชการที่เดินเคียงข้างประชาชน

“การที่รัฐไทยรับรองสถานะของพวกเขา ไม่ใช่การแย่งสิทธิคนไทย แต่คือการคืนในสิ่งที่ควรจะได้รับตั้งแต่ต้น เพราะพวกเขาไม่ได้เป็น ‘ต่างด้าวหน้าใหม่’ แต่คือผู้ที่อยู่ในบ้านนี้เมืองนี้มานาน รุ่นต่อรุ่น มีความผูกพันกับผืนแผ่นดิน” เธอกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในหลายรูปแบบ ทั้งอินโฟกราฟิกและเอกสารอธิบายขั้นตอน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลอย่างทั่วถึง โดยจนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม มีผู้ยื่นคำขอแล้ว 283 ราย

“สิ่งสำคัญที่สุดที่เรายึดมั่น คือความถูกต้อง ความเป็นธรรม และความชัดเจน ทุกขั้นตอนต้องตรวจสอบได้ การให้สัญชาติไทยคือการยอมรับความเป็นสมาชิกของรัฐ ไม่ใช่แค่การออกบัตรประชาชน” น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวในตอนท้าย

หน้าแรก » การเมือง