วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 00:15 น.

อสังหา

มาตรการทางเทคนิคและทางกฎหมายที่ควรใช้เพื่อป้องกันปัญหาเครนถล่ม

วันเสาร์ ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2562, 16.00 น.

มาตรการทางเทคนิคและทางกฎหมายที่ควรใช้เพื่อป้องกันปัญหาเครนถล่ม

 

จากเหตุการณ์เครนถล่มที่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากที่ผ่านมา ปัญหาเครนถล่มจึงเป็นปัญหาสำคัญที่หน่วยงานต่างๆ จะต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งในทางเทคนิคและในทางกฎหมาย ศาสตราจารย์ ดร. อมร พิมานมาศ นายกสมาควิศวกรโครงสร้างไทยได้แนะนำสามารถดำเนินการได้ดังนี้

 

1 กำหนดให้เครนหรือปั้นจั่นเข้าข่ายเป็นโครงสร้างอาคารตามความหมายของ พรบ. ควบคุมอาคาร 2522 เพื่อให้ต้องมีการขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการติดตั้งและการใช้งานเครน กฎหมายในปัจจุบันกำหนดให้การขออนุญาติเฉพาะส่วนที่เป็นตัวอาคารเท่านั้น แต่ทาวเวอร์เครนถือว่าเป็นเครื่องจักรในการก่อสร้าง จึงมิต้องขออนุญาต แต่ในความเป็นจริงทาวเวอร์เครนมีลักษณะเป็นโครงสร้างเหล็ก จึงควรกำหนดให้เข้าข่ายเป็นอาคารด้วย เพื่อที่จะต้องขออนุญาตก่อสร้างเช่นเดียวกับอาคารทั่วไป

2 เครนที่ใช้ในการก่อสร้างมี 2 ลักษณะได้แก่ ทาวเวอร์เครนชนิดแขนราบ (hammer crane) และ ทาวเวอร์เครนชนิดแขนกระดก (Lufting crane) เนื่องจากทาวเวอร์เครนชนิดแขนราบมีพื้นที่ทำการกว้างตามแนวรัศมี ซึ่งอาจยื่นล้ำออกไปนอกขอบเขตไปพื้นที่ข้างเคียง จึงควรจำกัดการใช้งานในเขตที่มีอาคารข้างเคียงและควรพิจารณาใช้งานทาวเวอร์เครนชนิดแขนกระดกซึ่งมีพื้นที่ทำการแคบภายในอาคารที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัยมากกว่า

3 ควรมีกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการตรวจสภาพเครนตามอายุการใช้งาน เนื่องจากว่า เครนที่ใช้ส่วนใหญ่มักผ่านการใช้งานมาแล้วหลายครั้ง ทำให้สภาพไม่สมบูรณ์ เป็นสนิม น๊อตและสลิงยึดไม่ครบถ้วน ดังนั้น จึงควรออกกฎหมายให้มีการตรวจสภาพเครนก่อนอนุญาตให้ใช้งานได้

4 เจ้าพนักงานท้องถิ่นควรบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะต้องจัดให้มีนายตรวจ ตรวจตราสถานที่ก่อสร้างเป็นประจำ เช่น มีวิศวกรที่มีใบอนุญาตกำกับการก่อสร้างหรือไม่ มาตรการในการป้องกันสิ่งของตกหล่นพื้นที่ข้างเคียง เป็นต้น

มาตรการทั้ง 4 ข้อนี้ ถือเป็นมาตรการที่ภาครัฐควรเร่งกำหนดออกมาให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันปัญหาเครนถล่มในอนาคต