วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 20:23 น.

อสังหา

สิงห์ เอสเตท เดินหน้าสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เอส อ่างทอง

วันพฤหัสบดี ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2564, 16.02 น.
สิงห์ เอสเตท เดินหน้าสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เอส อ่างทอง
 
 
 
บมจ. สิงห์ เอสเตท (S) บริษัทผู้พัฒนาและลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย เดินหน้าสร้างนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง (S Industrial Estate) ใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแผนเชิงกลยุทธ์ Enriching Tomorrow สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่ในพื้นที่ศักยภาพ จังหวัดอ่างทอง ศูนย์กลางแหล่งวัตถุดิบธุรกิจอาหาร และเป็นเส้นทางหลักของการขนส่งสินค้าเกษตรของภาคเหนือและภาคกลางตอนบน
 
นายกำจร ลีประพันธ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท S.IF. จำกัด (บริษัทในเครือสิงห์ เอสเตท) กล่าวว่า สิงห์ เอสเตท เล็งเห็นถึงศักยภาพของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งมีศักยภาพสูงในการเติบโต ตามแนวทาง “หนึ่งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร หนึ่งกลุ่มจังหวัด” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรฯ  ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนสร้างความแข็งแกร่ง ทั้งในด้านทำเลที่ตั้งของจังหวัดอ่างทอง ที่เป็นศูนย์กลางแหล่งวัตถุดิบคุณภาพสูง เนื่องจากตั้งอยู่บนรอยต่อของ 4 จังหวัด ลพบุรี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งวัตถุดิบสินค้าเกษตร จากภาคเหนือและภาคกลางตอนบน สู่ศูนย์กระจายสินค้าเกษตรหลักของภาคกลาง (ตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง)   และที่สำคัญคือ มีแรงงานจำนวนมาก รองรับการความต้องการของผู้ประกอบการ เนื่องจากมีสถาบันการศึกษาวิชาชีพหลายแห่งอยู่ในจังหวัดอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียง อาทิเช่น ราชภัฏลพบุรี วิทยาลัยเทคนิค และอื่นๆ  พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงการพื้นฐานที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล โรงเรียนนานาชาติ ทำให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของพนักงานทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และธุรกิจเกี่ยวเนื่องเป็นอย่างยิ่ง
 
โครงการนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง มีพื้นที่โครงการ 1,790 ไร่ ตั้งอยู่ริมถนนสายเอเชีย กม.63 ต.ไชยภูมิ อ. ไชโย จ.อ่างทอง สะดวกต่อการขนส่งสินค้า ไปยังศูนย์กระจายสินค้า ท่าเรือ สถานีรถไฟ รวมทั้งท่าอากาศยาน และจังหวัดใกล้เคียง พร้อมโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เพียงพอและมั่นคง โดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเภทพลังงานความร้อนร่วม หรือ Co-Generation (เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันก๊าซและกังหันไอน้ำมาทำงานเป็นระบบร่วมกัน) ซึ่งมีข้อดีคือให้กำลังการผลิตสูง มีความยืดหยุ่นในการเดินเครื่อง มลภาวะต่ำ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญผลผลิตที่ได้เป็นกระแสไฟฟ้าทีมีคาร์บอนต่ำ (Low carbon emission) จาก โรงไฟฟ้า SPP 3 โรง ขนาดกำลังการผลิตรวม 400 เมกกะวัตต์ พร้อมระบบจ่ายไฟฟ้า 22 KV โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาช่วยจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาตั้งโรงงานในนิคมฯ มีต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำกว่าทั่วไป ประมาณ 3  เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของทรัพยากรน้ำ มีศักยภาพการผลิตน้ำประปา 9,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 384 ไร่ เทียบเท่าความจุ 6.12 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และจะมีการติดตั้ง Solar farm ลอยน้ำ ในอนาคต  อีกทั้งรองรับกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต ด้วยเครือข่ายโทรคมนาคม ระบบ 5G และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ครอบคลุมทุกพื้นที่โครงการ
 
สำหรับการจัดสรรพื้นที่ภายในนิคมอุตสาหกรรม แบ่งเป็น เขตอุตสาหกรรมอาหาร และเขตอุตสาหกรรมทั่วไป โดยช่วงที่ 1 มีพื้นที่ 364.7 ไร่ และช่วงที่ 2 มีพื้นที่ 662.3 ไร่  เขตธุรกิจพื้นที่พาณิชยกรรม  34 ไร่ พื้นที่สีเขียวและสันทนาการ 147 ไร่ โรงไฟฟ้า พื้นที่ 77.4 ไร่ และระบบสาธารณูปโภค รวม 215 ไร่ โดยจะแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในปี พ.ศ. 2566 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในการขอใบอนุญาตต่างๆ ผ่านศูนย์ Total solution Center รวมถึงการนำเงินตราต่างประเทศออกนอกราชอาณาจักร และยังได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อีกด้วย และการออกแบบพัฒนาโครงการที่ปลอดภัยจากภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะ อุทกภัยเนื่องจากมีการนำข้อมูลสถิติมาใช้ในการวิเคราะห์ในการสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วม (flood protection) ล้อมรอบโครงการ
 
 “นิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง เป็นก้าวสำคัญของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ของสิงห์ เอสเตท เนื่องจากเป็นโครงการแรกในกลุ่มธุรกิจนี้ ที่พัฒนาจากแนวคิด “Enriching Tomorrow” ที่มุ่งสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน และโครงการนี้จะส่งเสริมศักยภาพด้านเศรษฐกิจให้กับจังหวัดอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียง พร้อมทั้งรักษาความสมบูรณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ให้คงอยู่ตลอดไป” นายกำจร กล่าว