วันพฤหัสบดี ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 13:57 น.

อสังหา

รับสร้างบ้านครึ่งปีแรกอาการน่าห่วง  HBA พลิกเกมสู้อัดอีเว้นท์กระตุ้นยอดขายสู้

วันพุธ ที่ 02 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 13.26 น.

เปิดมุมมอง ‘อนันต์กร อมรวาที’ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน มองธุรกิจครึ่งปีแรกยังไม่ฟื้นชีพ ติดลบ 5-6% คาดช่วงไตรมาส 3 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นของการตัดสินใจสร้างบ้าน จะช่วยดันยอดปีนี้ให้ทรงตัวได้ หากไม่เผชิญปัจจัยลบเพิ่มเติม พร้อมเร่งขยายฐานสมาชิก-ยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างทั่วประเทศ มองปีหน้าเริ่มเห็นสัญญาณฟื้น

นายอนันต์กร อมรวาที นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association : HBA) เปิดเผยภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านในปีนี้ว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค แต่ในส่วนของธุรกิจรับสร้างบ้านยังมีแรงขับเคลื่อนจากผู้บริโภคที่มีความพร้อมทางการเงินและต้องการบ้านคุณภาพที่ตรงใจ โดยเฉพาะกลุ่มบ้านระดับ 3-10 ล้านบาท ที่ยังมีอัตราการตัดสินใจอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในด้านสถานการณ์ตลาดในช่วงครึ่งปีแรกนั้น ต้องยอมรับว่า ภาพรวมของตลาดยังติดลบ 5-6% แต่มีสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาส 2 และคาดว่าช่วงไตรมาส 3 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นของการตัดสินใจสร้างบ้าน จะช่วยดันยอดปีนี้ให้ทรงตัวได้ หากไม่เผชิญปัจจัยลบเพิ่มเติม และมีความกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจทั่วโลกที่เข้าสู่ภาวะชะลอตัว รวมไปถึงสถานการณ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ผันผวน ทำให้ระมัดระวังในการใช้จ่ายและชะลอการตัดสินใจสร้างบ้านมีผลต่อภาพรวมยอดขายไตรมาสแรกของปี 2568 ธุรกิจรับสร้างบ้านในส่วนของสมาชิกสมาคมฯ ปรับตัวลดลงประมาณ 7%

นายอนันต์กร กล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยที่ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจสร้างบ้านนอกจากราคาวัสดุและค่าแรงที่ยังทรงตัว คือความพร้อมของผู้ซื้อเอง และความคาดหวังต่อคุณภาพบ้าน ซึ่งแตกต่างกันไปตามเซ็กเมนต์ เช่น บ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท ผู้บริโภคมองเรื่องความคุ้มค่า บ้านระดับ 5-10 ล้านบาท เน้นคุณภาพการก่อสร้าง ขณะที่บ้านระดับ 20 ล้านบาทขึ้นไป เน้นดีไซน์เฉพาะตัวและสะท้อนรสนิยมเจ้าของบ้าน
“ผู้บริโภคยุคนี้ไม่ได้มองแค่ราคาถูกสุด แต่เขาต้องการบ้านที่คุ้มค่า มีมาตรฐาน มีบริการหลังการขาย และสามารถเชื่อถือได้ว่าได้บ้านแน่นอน ซึ่งธุรกิจรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกสมาคมจะตอบโจทย์ทั้งหมดนี้ได้ดีกว่าใช้ผู้รับเหมาทั่วไป ในส่วนต่างจังหวัดนั้น ยังคงมีดีมานด์สร้างบ้านจริงจำนวนมาก โดยเฉพาะบ้านระดับ 3-5 ล้านบาท ซึ่งผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า หากเปรียบเทียบระหว่างผู้รับเหมากับธุรกิจรับสร้างบ้านแล้ว ส่วนต่างราคาไม่เกิน 10-15% แต่สิ่งที่ได้คือมาตรฐาน การบริการ ความน่าเชื่อถือ และคุณภาพงานที่ดีกว่า”

อย่างไรก็ตาม นายอนันต์กรกล่าวว่า แม้ภาพรวมไตรมาสแรกจะหดตัว ส่วนใหญ่อยู่ในเซ็กเมนต์ (Segment) บ้านราคา 20 ล้านขึ้นไป สะท้อนจากการชะลอตัดสินใจสร้างบ้านออกไป เพราะความไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจ และตลาดทุนไม่ค่อยดีนักในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่บ้านในเซ็กเมนต์ 2–5 ล้านบาท และ 5–10 ล้านบาท ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจต่อเนื่องถึงไตรมาส 2/68 สะท้อนจากผลตอบรับจากงาน “รับสร้างบ้าน Focus 2025” ที่จัดเมื่อ 12–16 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา พบว่า บ้านในสองกลุ่มราคานี้สามารถทำยอดขายรวมกันได้มากถึง 68.81% จากยอดขายทั้งหมด

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อไตรมาสสองที่ยังไม่มีสัญญาณบวกที่ชัดเจน บริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ ยังคงไม่ปรับราคารับสร้างบ้าน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ที่กำลังวางแผนสร้างบ้านได้ตัดสินใจในช่วงเวลาที่ดี และต้นทุนที่ดีที่สุด

นายอนันต์กรยังกล่าวถึงงานอีเวนต์ประจำปี ซึ่งจัดขึ้นในไตรมาส 3 เพื่อกระตุ้นตลาดตรงกับช่วงไฮซีซั่น โดยปีนี้จะจัดขึ้นในเดือนกันยายนที่เมืองทองธานี มีบริษัทรับสร้างบ้านร่วมออกบูทกว่า 40 บริษัท และวัสดุก่อสร้างอีกกว่า 20 ราย รวมถึงธนาคารที่มาให้คำปรึกษาและเสนอโปรโมชั่นสินเชื่อแบบครบวงจร

“คนที่อยากมีบ้าน ถ้ามางานนี้จะสามารถเลือกบ้าน เลือกผู้รับสร้างบ้าน และได้โปรโมชั่นพิเศษครบจบในที่เดียว เราเชื่อว่ากิจกรรมแบบนี้จะสร้างความคึกคักให้กับตลาดได้”

แม้ปีนี้จะยังเป็นปีที่ท้าทายจากปัจจัยลบรอบด้าน แต่นายอนันต์กรมั่นใจว่า ธุรกิจรับสร้างบ้านจะสามารถผ่านไปได้ และเชื่อว่าหลังพ้นปี 2568 จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของตลาดอย่างชัดเจน หากเศรษฐกิจและการเมืองกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง

ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกเกือบ 80 บริษัททั่วประเทศ และยังคงเดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจต่อผู้บริโภคในต่างจังหวัดให้เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่าง “รับเหมาก่อสร้าง” กับ “ธุรกิจรับสร้างบ้าน” ที่เน้นบริการครบวงจรตั้งแต่แบบบ้านจนถึงบริการหลังการขาย ซึ่งในช่วง 5-6 ปีหลัง สมาคมฯ สามารถขยายฐานสมาชิกในต่างจังหวัดได้เพิ่มขึ้นจาก 10% เป็นกว่า 35%

ขณะที่ตลาดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นกลุ่มที่รับรู้ถึงธุรกิจรับสร้างบ้านอยู่แล้ว ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 20% และการแข่งขันจึงเน้นที่การออกแบบ คุณภาพ และบริการ มากกว่าราคา