วันศุกร์ ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 12:43 น.

อสังหา

ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ขึ้นแท่น “ศูนย์เปลี่ยนถ่ายการจราจร” ใช้ EV Shuttle Bus รถพลังงานสะอาด เชื่อมต่อการเดินทาง

วันพฤหัสบดี ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 10.57 น.

ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ขึ้นแท่น “ศูนย์เปลี่ยนถ่ายการจราจร”

ใช้ EV Shuttle Bus รถพลังงานสะอาด เชื่อมต่อการเดินทาง

 

ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ กับก้าวแห่งการพัฒนาเป็น “ศูนย์เปลี่ยนถ่ายการจราจร” อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการพัฒนาการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะหลักเข้ากับการเดินทางภายในศูนย์ฯ ผ่านบริการ รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV Shuttle Bus) ที่ให้พลังงานสะอาด 100% รองรับผู้โดยสารกว่า 3,000 คนต่อวัน เป็นผลจากการวางโครงข่ายจราจรเชื่อมต่อรอบด้าน และมุ่งสู่เป้าหมายเมืองอัจฉริยะคาร์บอนต่ำภายในปี 2570

 

รถไฟฟ้าพลังงานสะอาดเชื่อมระบบรอบด้าน

ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (DAD Asset Development) ผู้บริหารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เปิดเผยว่า  DAD ได้เริ่มใช้ EV Shuttle Bus ให้บริการรับ-ส่งประชาชนและเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ มาเกือบ 2 ปี ทยอยเปิดเส้นทางให้บริการ เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่เป็นจุดต่อเชื่อมกับรถสาธารณะ  โดย EV Shuttle Bus ของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ใช้พลังงานสะอาดที่มาจากแหล่งผลิตคือ แผงโซล่าร์เซลล์ ที่ติดตั้งบนอาคารจอดรถ D สามารถผลิตไฟฟ้าได้กว่า 74,164 กิโลวัตต์ต่อเดือน เพียงพอสำหรับระบบไฟส่องสว่างภายในอาคาร และการชาร์จแบตเตอรี่ของรถ EV ทุกคัน จึงถือเป็นรถที่ใช้พลังงานสะอาดได้ 100% 

 

 

ปัจจุบัน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ มีรถ EV Shuttle Bus รวม 6 คัน ให้บริการ 2 เส้นทางหลัก ได้แก่: เส้นทาง 1: ปากซอยแจ้งวัฒนะ 5 – อาคาร B – อาคาร C เชื่อมต่อผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีหลักสี่ และเส้นทาง 2: ปากซอยแจ้งวัฒนะ 7 – อาคาร A, B, C  และยังรองรับผู้โดยสารจากอาคารจอดรถ D และรถไฟฟ้าสายสีชมพู สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เปิดให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 06.00 – 19.00 น. มีจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยสูงกว่า 3,000 คนต่อวัน  ช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมีนัยสำคัญ  ในอนาคตมีแผนเพิ่มจำนวนรถ EV Shuttle Bus  ตามจำนวนผู้ใช้บริการที่มีเพิ่มมากขึ้น  

 

 

ยกระดับโครงข่ายจราจร-ขนส่ง สู่ Smart Transit Hub

เมื่อมองในภาพรวม ไม่เพียงภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ที่มีการเชื่อมต่อการจราจรจากภายในสู่ภายนอก แต่ยังเดินหน้าเชื่อมต่อระบบขนส่งโดยรอบ ตอกย้ำการยกระดับพื้นที่สู่การเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายการเดินทางอย่างแท้จริง ซึ่ง DAD ได้ดำเนินการตามแผนงานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงาน ได้แก่  การสร้าง Sky Walk เชื่อมไปยังสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ  ความร่วมมือกับสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้องวางระบบจัดการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วน และการประสานกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. สนับสนุนการจัดรถโดยสารประจำทางวิ่งรับ - ส่ง ผู้โดยสารเข้าสู่พื้นที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ  โดยเป็นการวางเครือข่ายถนนโดยรอบพื้นที่ ได้แก่ ถนนแจ้งวัฒนะ (4 สายหลัก) ถนนเฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณ์ และถนนสายหลักอื่นๆ รองรับการจราจรจากทุกทิศทาง ด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายการจราจรเพื่อระบายรถยนต์

 

 

“DAD ได้ประสานกรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่าย ตัดถนนเพื่อระบายการจราจรจากภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ออกไปยังถนนภายนอก ได้แก่ ถนนหมายเลข 8 หรือ ถนนเฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณ์ ขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อไปยังถนนกำแพงเพชร 6 เพื่อเชื่อมต่อไปยังถนนวิภาวดีรังสิต  ถนนหมายเลข 10  ขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมออกไปยังถนนประชาชื่น ข้ามคลองประปา และที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างคือ ถนนหมายเลข 11 ซึ่งเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 10 โดยทำการขยายถนนประชาชื่นจาก 2 ช่องทางจราจร เพิ่มเป็น 4 ช่องทางจราจรแก้ปัญหาคอขวด”

 

 

จุดเปลี่ยนเพื่ออนาคตการเดินทางยั่งยืน

บริการ EV Shuttle Bus ภายในศูนย์ราชการฯ จึงไม่ใช่เพียงการอำนวยความสะดวก แต่ยังเป็นนโยบายเชิงรุกในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนเมืองคาร์บอนต่ำ ตามแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะสีเขียว หรือ Green Intelligent City และด้วยโครงข่ายการจราจรที่เชื่อมโยงรอบด้าน พลังงานสะอาดที่ใช้ได้จริง และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ จึงเป็นต้นแบบของ “ศูนย์เปลี่ยนถ่ายการจราจร” ที่ตอบโจทย์อนาคตเมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง