วันจันทร์ ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 18:11 น.

ประชาสัมพันธ์

พก. ประชุมรับฟังความคิดเห็นของเครือข่ายคนพิการ

วันพุธ ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563, 20.27 น.
พก. ประชุมรับฟังความคิดเห็นของเครือข่ายคนพิการ
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการสร้างโอกาสและการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งของคนพิการ
 
 
นายสากล ม่วงศิริ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานการประชุมกับนักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 24 (ปปร.24) บ้านรัชดาภิเษก ของสถาบันพระปกเกล้า เพื่อรับฟังความคิดเห็นของเครือข่ายคนพิการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการสร้างโอกาสและการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งของคนพิการในฐานะพลเมืองที่มีสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายของประเทศไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการเลือกตั้งและโอกาสในการเมืองของคนพิการ โดยมี นางสาวอณิรา ธินนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผู้แทนสมาคมคนพิการ 7 องค์กร เครือข่ายคนพิการ ผู้แทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้แทนองค์กร หน่วยงานผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบอบประชาธิปไตย และบุคลากรจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เข้าร่วมการประชุม
 
 
นางสาวอณิรา กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่สำคัญของวิถีทางในการปกครองภายใต้ระบอบเสรีประชาธิปไตยที่แสดงออกถึงเจตจำนงร่วมกันของประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องทำให้พลเมืองทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิในการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกันภายใต้หลักความเสมอภาค โดยเฉพาะคนพิการเป็นประชากรของประเทศที่มีความสำคัญ มีสิทธิและเสียงในฐานะพลเมืองของประเทศ ซึ่งสถิติปัจจุบันมีคนพิการที่อายุมากกว่า 18 ปี และมีสิทธิในการเลือกตั้ง 1.78 ล้านคน ภาครัฐจึงมีส่วนสำคัญในการกำหนดมาตรการทางกฎหมายในการส่งเสริมคนพิการให้เข้าถึงสิทธิเลือก ดำเนินการเพื่อขจัดอุปสรรคบางประการที่ทำให้คนพิการไม่สามารถเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้ รวมถึงการให้ความสำคัญกับสิทธิเลือกตั้งของคนพิการตั้งแต่ช่วงก่อนมีการเลือกตั้งในวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และหลังจากออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งที่สอดคล้องหลักการที่ได้มีการรับรองไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันเป็นภาคีสมาชิกและตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 
 
รองอธิบดี พก. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว นับเป็นการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งของคนพิการภายใต้โครงการศึกษาเชิงวิชาการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการเลือกตั้งและโอกาสทางการเมืองของคนพิการ พร้อมขอขอบคุณเครือข่ายคนพิการ องค์กร หน่วยงานผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบอบประชาธิปไตยที่ได้สะท้อนความคิดเห็นและความต้องการของคนพิการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการฯ ที่จะจุดประกายให้เกิดนวัตกรรมในการสร้างโอกาสและการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งของคนพิการในระบอบประชาธิปไตย