วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 10:54 น.

ประชาสัมพันธ์

กรมทรัพยากรธรณี เผยปริศนา “อายุวาฬอำแพง” ย้อนเวลาสู่อดีตทะเลโบราณ

วันอังคาร ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564, 13.58 น.
กรมทรัพยากรธรณี เผยปริศนา “อายุวาฬอำแพง” 
ย้อนเวลาสู่อดีตทะเลโบราณ
 
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นประธานแถลงข่าว เรื่อง “ทธ. เผยปริศนา...อายุวาฬอำแพง ย้อนเวลาสู่อดีตทะเลโบราณ” ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 1กรมทรัพยากรธรณี
 
นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า จากการขุดค้นพบโครงกระดูกวาฬอำแพง เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 หลังได้รับแจ้งจากบริษัท ไบรท์ บลู 
วอเตอร์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด พบโครงกระดูกวาฬในชั้นตะกอนดินเหนียว ณ ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โดยกรมทรัพยากรธรณี และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่สำรวจขุดค้นและศึกษาบริเวณพื้นที่โดยรอบ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2563 จึงได้ทำการเคลื่อนย้ายโครงกระดูกวาฬเพื่อทำการอนุรักษ์ตัวอย่าง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งการอนุรักษ์โครงกระดูกวาฬอำแพง ดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2563 โดยมีชิ้นตัวอย่างโครงกระดูกวาฬ จำนวน 127 ชิ้นตัวอย่าง ขณะเดียวกันได้ส่งตัวอย่างกระดูกบริเวณส่วนหัวกะโหลกที่แตกหัก 1 ชิ้น ประมาณ 100 กรัม ไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์หาอายุด้วยวิธีศึกษาธาตุคาร์บอน-14 (C-14) 
 
นายสมหมาย เตชวาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงเวลากลางเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรธรณีได้ดำเนินการอนุรักษ์ตัวอย่างชิ้นสุดท้ายชิ้นที่ 128 คือ เฝือกส่วนกะโหลก และกระดูกหู 2 ข้าง ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการจำแนกสายพันธุกรรมโบราณและวิวัฒนาการของวาฬ อีกทั้ง ยังพบขากรรไกรบน (ซ้าย-ขวา) และชิ้นส่วนนิ้วเพิ่มอีกจำนวน 3 ข้อ สรุปชิ้นตัวอย่างโครงกระดูกวาฬ จำนวนรวมทั้งสิ้น 138 ชิ้นตัวอย่าง และหลังจากการส่งตัวอย่างกระดูกวาฬอำแพงเพื่อวิเคราะห์หาอายุของวาฬ กรมทรัพยากรธรณีได้รับแจ้งจากห้องปฏิบัติการบริษัท เบต้า จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการชั้นนำด้านการหาอายุด้วยวิธีคาร์บอน 14 AMS ทราบว่า วาฬอำแพงมีอายุ 3,380 +/-30 ปี หรือมีอายุมากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ซึ่งผลอายุของกระดูกวาฬอำแพงได้นำไปสู่หลักฐานที่บ่งชี้ว่าพื้นที่บริเวณตำบลอำแพง เป็นทะเลเมื่อประมาณ 3,380 +/-30 ปีก่อน ซึ่งอธิบายถึงสภาพนิเวศวิทยาโบราณที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ได้แก่ ฉลาม กระเบน หอยกาบคู่ หอยกาบเดี่ยว และการลำดับชั้นตะกอนทะเลโบราณของที่ราบภาคกลางได้เป็นอย่างดี
 
 
ทั้งนี้ ภายหลังการแถลงข่าวสื่อมวลชน กรมทรัพยากรธรณี ได้จัดประชุมวิชาการ เรื่อง "สภาวะแวดล้อมบรรพกาลกับวาฬอำแพง" เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการกับภาคีเครือข่ายด้านซากดึกดำบรรพ์ที่ให้ความร่วมมือในการสำรวจขุดค้นโครงกระดูกวาฬ ประกอบด้วยหัวข้อ การสำรวจขุดค้นซากกระดูกวาฬโบราณ การศึกษาด้านธรณีวิทยาและตะกอนวิทยา ตลอดจนซากสิ่งมีชีวิตโบราณอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย รวมทั้งเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นนำไปสู่แนวทางด้านการสงวน การอนุรักษ์ การศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์และแหล่งซากดึกดำบรรพ์ให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ เพื่อป้องกันการลักลอบขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ หรือขุดค้นโดยไม่ถูกหลักวิชาการ ทำให้ซากดึกดำบรรพ์ที่มีคุณค่าถูกทำลาย นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยที่ครบถ้วนรอบด้าน ส่งเสริมให้แหล่งวาฬอำแพงมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ในระดับประเทศหรือระดับโลกต่อไป

หน้าแรก » ประชาสัมพันธ์