วันพฤหัสบดี ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567 22:43 น.

ประชาสัมพันธ์

รมว.พม. ร่วมทอล์ก ครอบครัววิถีใหม่รับมืออย่างไรกับความรุนแรงในครอบครัว

วันพฤหัสบดี ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564, 15.29 น.
รมว.พม. ร่วมทอล์ก ครอบครัววิถีใหม่รับมืออย่างไรกับความรุนแรงในครอบครัว
เนื่องในวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว 
 
 
 
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงาน พม. ทอล์ก “ครอบครัววิถีใหม่รับมืออย่างไรกับความรุนแรงในครอบครัว” เนื่องในวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว โดยมีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย 1) ศาตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2) รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) 3) นางสาวจอมเทียน จันสมรัก ผู้ประสานงานโครงการ MyAdvisor 4) พล.ต.ต. กิตติ์ธนทัต เลอวงศ์รัตน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 5) นางสาวปนัดดา วงศ์ผู้ดี ผู้ได้รับรางวัลบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2561 และผู้ได้รับรางวัลผู้เสียสละเพื่อสังคม ประจำปี 2564 และ 6) นายหลุยส์ เฮสดาร์ซัน ศิลปิน ดารา นอกจากนี้ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดออกแบบสื่อสร้างสรรค์คลิปวิดีโอ เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว
 
 
นายจุติ กล่าวว่า วันนี้ กระทรวง พม. รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ทุกช่วงวัย และทุกกลุ่ม โดยเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม  สิ่งที่เห็นวันนี้คือ ความรุนแรงในครอบครัวเป็นโรคร้ายของสังคม ไม่ใช่เป็นเรื่องแค่ภายในครอบครัว แต่เป็นเรื่องของสังคมที่ทุกคนต้องเอาใจใส่และช่วยเหลือกัน ครอบครัวก็จะเข้มแข็ง เมื่อครอบครัวเข้มแข็ง พลเมืองเข้มแข็ง ประเทศชาติก็เข้มแข็ง  สำหรับวิทยากรที่มาร่วม พม. ทอล์ก ในวันนี้ เราจะนำไปเป็นหลักสูตรการสัมมนาเชิงปฎิบัติการร่วมกับศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน เป็นทีมจิตอาสาทั่วประเทศ ขณะเดียวกันทุกภาคส่วน มูลนิธิ ชมรม และวิทยากร เราได้ร่วมกันทำงานเพื่อทำให้การเข้าถึงและสามารถเข้าใจได้ง่าย เป็นการขับเคลื่อนเพื่อพลิกโฉมใหม่ของประเทศ ในการลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อีกทั้งต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยทันกับเหตุการณ์ และหวังว่าทุกภาคส่วนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งในปีหน้า เราหวังว่าจะมีผลงานที่จับต้องได้ที่เป็นรูปธรรมที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ เพื่อประโยชน์ของสังคม ทั้งนี้ แนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวในช่วงโควิด – 19 พบว่า คนมีความเครียดจากการปิดกิจกรรม การจำกัด  เพราะมนุษย์ต้องการมีอิสระ ซึ่งทำให้เกิดความเครียดบวกกับปัญหาเศรษฐกิจเป็นตัวนำ ส่งผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมอย่างรุนแรง ทุกคนจึงมีความกังวล ฉะนั้น เราต้องไม่ด้อยค่ากัน ต้องให้กำลังใจ และต้องเสียสละซึ่งกันและกัน ซึ่งตนคิดว่าสังคมไทยไปได้ วันนี้ เรามีคุณหมอ นักจิตวิทยามาร่วมงานด้วย เราจะเลี้ยงลูกไม่ให้เป็นหุ่นยนต์ จะเลี้ยงลูกให้เป็นมนุษย์ ซึ่งต้องมีศีลธรรม คุณธรรม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และ
ไม่ได้มองแค่ตัวเอง แต่ต้องมองรอบตัวและสังคม
 
 
 
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่ องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs ) ในเป้าหมายที่ 5 การบรรลุความเท่าเทียมทางเพศ การพัฒนาบทบาทสตรีและเด็กผู้หญิง สำหรับประเทศไทย โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประกอบกับการมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา สำหรับ ปี 2564 กระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) จึงได้จัดกิจกรรมประกวดคลิปวิดีโอ ในหัวข้อ “ครอบครัววิถีใหม่ไร้ความรุนแรง?” ความยาวไม่เกิน 3 นาที ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทบาท หน้าที่ และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว เพื่อเป็นสื่อรณรงค์ในการป้องกันและลดความรุนแรงในครอบครัวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาความรุนแรงและเข้ามามีส่วนร่วมด้วยการไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว รวมทั้งการเข้ามาร่วมจัดกิจกรรมเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในทุกรูปแบบ เนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ ต่อไป ทั้งนี้ มีผู้ได้รับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 5 รางวัล ประกอบด้วย 1) ประเภทเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน 25 ปี จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ 1.1) รางวัลชนะเลิศ นางสาวซอฟา ประธรรมสาร ผลงาน “ช่องว่าง” และ 1.2) รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 นางสาวภาวิตา  จิตพิไลเมธา ผลงาน "ฝันร้าย" และ 2) ประเภทประชาชนทั่วไป อายุ 25 ปีขึ้นไป จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 2.1) รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 นายกงจักร์ บุตรศิริ ผลงาน “ยุติความรุนแรง เราช่วยได้” และนางเยาวรัตน์ เลิศพิพัฒน์กุล ผลงาน “แก้วตาดวงใจ” และ 2.2) รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 นายกมล แสงสิทธิศักดิ์ ผลงาน "วัคซีน" 

หน้าแรก » ประชาสัมพันธ์