วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 03:19 น.

ประชาสัมพันธ์

ทส. ผนึกความร่วมมือระหว่างประเทศ สู่การตั้งรับและปรับตัว ต่อปัญหา Climate Change อย่างยั่งยืน

วันอังคาร ที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 12.42 น.
ทส. ผนึกความร่วมมือระหว่างประเทศ สู่การตั้งรับและปรับตัว ต่อปัญหา Climate Change อย่างยั่งยืน  
 
   
 
เวทีการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย หรือ TCAC ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดขึ้น ภายใต้แนวคิด อนาคตไทย อนาคตโลก : โอกาสและความรับผิดชอบ หรือ Our Future, Our Responsibility, Our Opportunity เมื่อระหว่างวันที่ 5 – 6 สิงหาคม 2565 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ถือเป็นเวทีเสริมสร้างความเข้มแข็งการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยมีการเปิดเวทีให้หลากหลายภาคส่วน อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ไปจนถึงระดับจังหวัด ตลอดจนภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ เยาวชน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และสถาบันการศึกษา เข้าร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อหาทางออกในการตั้งรับและปรับตัวต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
     
 
หนึ่งในหัวข้อการเสวนาที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ ในการผลักดันประเทศไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ ภายในปี ค.ศ.2050 และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065 คือ การเสวนาในหัวข้อ "ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" (Thailand’s Climate Alliance: The Success Story-Tellers) ซึ่งมี Ms. Lovita Ramgutee, Deputy Resident Representative จาก UNDP (United Nations Development Programme หรือ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ) นายธนศิษฏ์ สถาปนพิทักษ์กิจ ที่ปรึกษาด้านการเงิน องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ Thailand) และ รศ.ดร.ธัญญะ เกียรติวัฒน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าร่วมการเสวนา  
     
 
โดยทางด้านโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ได้กล่าวถึงการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพร้อมที่จะร่วมผลักดันและสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศไทยอย่างเต็มที่ ในการมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero อาทิ การส่งเสริมนวัตกรรม ความสามารถทางดิจิทัล การสนับสนุนกลไกทางการเงิน การสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และการส่งเสริมศักยภาพ เสริมพลังเยาวชนในการมีส่วนร่วมรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
     
 
ขณะที่องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ Thailand ได้มีความร่วมมือกับประเทศไทย ผ่านโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Thai Rice NAMA: Low-emission Rice Production ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงานที่สามารถสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวด้วยการใช้ 4 เทคโนโลยี ได้แก่ การปรับระดับหน้าดินด้วยเลเซอร์ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการแปรสภาพฟางข้าวและจัดการตอซัง โดยผลจากการดำเนินงาน พบว่า เกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการกว่า 25,000 คน สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวได้กว่า 305,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า  
     
 
นอกจากนี้ ทางด้านคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังได้กล่าวถึงโครงการความร่วมมือที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น หรือ JICA/JST ในการดำเนินโครงการ ADAP-T: Advancing Co-Design for Climate Change Adaptation ซึ่งเป็นโครงการศึกษาวิจัยเพื่อหาเทคโนโลยีและมาตรการที่เหมาะสมต่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยดำเนินการใน 6 ส่วน ได้แก่ แหล่งน้ำจืด (Fresh Water), ตะกอนดิน (Sediment), ชายฝั่ง (Coastal), พื้นที่ชนบท (Rural), พื้นที่เมือง (Urban) และ พื้นที่ป่าไม้ (Forest) ซึ่งโครงการนี้ จะเป็นฐานข้อมูลให้ประเทศไทยได้มีแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติต่อไป

หน้าแรก » ประชาสัมพันธ์