วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 08:17 น.

ประชาสัมพันธ์

บ้านพักเด็กและครอบครัว

วันศุกร์ ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 00.29 น.
บ้านพักเด็กและครอบครัว เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มี 77 จังหวัดทั่วประเทศ
 
 
มีภารกิจ ดังนี้
 
 
  1) ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมในภาวะวิกฤติ
 
   
2) ให้การช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพ และจัดบริการสวัสดิการสังคมสำหรับเด็ก เยาวชน สตรี และ  กลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาทางสังคม
 
 
  3) ให้สถานที่พักพิงชั่วคราว และปัจจัยสี่สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาทางสังคม
 
 
  4) เป็นสถานแรกรับเด็กและเยาวชน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
 
 
    5) เป็นสถานพักพิงชั่วคราว ตามกฎหมาย 3 ฉบับได้แก่
 
        - พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2546
 
        - พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550
 
        - พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
 
   
6) ส่งเสริมสนับสนุน สภาเด็กและเยาวชนระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ปี พ.ศ.2560
 
   
7) ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา อาสาสมัคร กลุ่ม องค์กร เครือข่ายในการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับกลุ่มเป้าหมายด้วยการบูรณาการและปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสวัสดิการสังคม
 
 
  8) บูรณาการและปฏิบัติงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการให้ความช่วยเหลือระยะสั้นและระยะยาวสำหรับกลุ่มเป้าหมาย
 
 
 
บ้านพักเด็กและครอบครัวดูแลเด็กและเยาวชนในด้านต่าง ๆ ดังนี้
 
1) ด้านการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ประกอบด้วย 3 ระบบสำคัญ เพื่อการสงเคราะห์และคุ้มครองเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูหรือปฏิบัติโดยไม่เหมาะสมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้
 
 
“การสงเคราะห์” เป็นการสงเคราะห์หรือช่วยเหลือเด็กให้ได้รับการอบรมเลี้ยงดู และมีพัฒนาการที่เหมาะสม ตามมาตรฐานการเลี้ยงดูขั้นต่ำ สำหรับเด็กที่ประสบความยากลำบาก เช่น ขาดผู้ดูแลตกทุกข์ได้ยากไร้ที่พึ่ง กำพร้า ถูกทอดทิ้งรวมถึงเด็กที่มีพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่ไม่สามารถอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่อยู่ในภาวะที่อาจเลี้ยงดูเด็กได้ เช่น พ่อแม่หย่าร้าง พ่อแม่ติดคุก พ่อแม่ที่ติดสุรา ยาเสพติด พ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อเด็ก เป็นต้น เด็กเหล่านี้จะได้รับการช่วยเหลือสงเคราะห์จากหน่วยงานของรัฐในการเลี้ยงดู อบรม ฝึกอาชีพ หรือบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ ทางร่างกายและจิตใจ และครอบครัวให้สามารถกลับมาอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้อย่างเป็นปกติสุขและมีความปลอดภัย และวิธีการสงเคราะห์เด็กตามมาตรา ๓๓
 
 
“การคุ้มครองสวัสดิภาพ” มุ่งเน้นการเข้าคุ้มครองเด็กที่น่าจะอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงจะได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพจากการเลี้ยงดูโดยมิชอบ หรือการกระทำโดยมิชอบของบุคคลใดก็ตามในสังคม เช่นการถูกกระทำรุนแรง ทารุณ กักขัง หรือทำร้ายทั้งทางจิตใจ ร่างกาย รวมทั้งเด็กที่มีความประพฤติหรือเสี่ยง
 
 
ที่จะกระทำผิด โดยการคุ้มครองนี้จำเป็นต้องอาศัยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อยุติการละเมิดนั้นเป็นการเร่งด่วน และประชุมหารือร่วมกับทีมสหวิขาชีพ และผู้เกี่ยวข้องเพื่อการรวบรวมข้อมูลสำคัญ และร่วมกันวางแผนแนวทางแก้ไข เยียวยา ฟื้นฟู เด็กที่อาจได้รับผลกระทบจากการกระทำนั้น และดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อการลงโทษผู้กระทำผิด
 
 
“การส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา” มุ่งเน้นมาตรการเชิงบวกเพื่อ พัฒนาให้นักเรียน นักศึกษา มีความประพฤติที่เหมาะสม และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ปราศจากความเสี่ยงต่อชีวิต ร่างกาย สิทธิเสรีภาพต่อตนเองและผู้อื่น
 
 
2) ด้านการส่งเสริมและพัฒนา
 
ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน การพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กในชุมชน การติดตามเด็กสูญหาย การบริการวิชาการด้านเด็กและเยาวชน การป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาทางสังคม ในเด็กและเยาวชน การพัฒนาระบบคุณภาพการให้บริการ การพัฒนาเด็กปฐมวัย การส่งเสริมสนับสนุนกิจการสภาเด็กและเยาวชนทุกระดับในจังหวัด และการป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
 
 
 
หากประชาชนพบเห็นเด็กและเยาวชน ประสบปัญหาทางสังคม สามารถติดต่อได้ที่ บ้านพักเด็กและครอบครัว ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ หรือโทรสายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ตลอด 24 ชั่วโมง และแอปพลิเคชัน “คุ้มครองเด็ก”

หน้าแรก » ประชาสัมพันธ์