วันพุธ ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 03:51 น.

ประชาสัมพันธ์

“ปลัดฯ จตุพร” ติดตามการทำงาน ศูนย์ประสานงาน APEC ทส. ทันที หลังกลับจากการประชุม COP27

วันศุกร์ ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565, 07.46 น.
“ปลัดฯ จตุพร” ติดตามการทำงาน ศูนย์ประสานงาน APEC ทส. ทันที หลังกลับจากการประชุม COP27
 
 
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) เข้าติดตามการทำงานของ ศูนย์ประสานงานเอเปค ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งตั้งอยู่ ณ อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทันทีภายหลังกลับจากการประชุม COP27 ณ สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เพื่อติดตามประเด็นสำคัญจากการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่มีขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 14 - 19 พฤศจิกายน 2565 นี้ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตลอดจนเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องภายใต้บทบาทภารกิจของกระทรวงทรัพยากรฯ 
     
นายจตุพร กล่าวว่า การประชุมเอเปค 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังยุคโควิด-19 อย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน ซึ่งถือเป็นการประชุมเอเปคครั้งแรกที่ได้นำแนวคิดในเรื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy Model (BCG) มาเป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่จะผลักดันการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้ โดยคาดหวังว่า เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว จะเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 นี้
     
สำหรับกระทรวงทรัพยากรฯ มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ไปสู่การดำเนินงานในเชิงรูปธรรม โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Model) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นการดำเนินงานใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความสมดุลของระบบนิเวศและเป็นฐานการพัฒนา 2) การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างและกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม 3) การลดการใช้ทรัพยากร ลดขยะและของเสีย และ 4) การมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงทรัพยากรฯ จะดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในพื้นที่ป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท ส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้รับการรับรองและส่งเสริมการตลาดมากขึ้น รวมถึงมีการลดการใช้ทรัพยากร มีการนำพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ร้อยละ 100 และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นายจตุพร กล่าว

หน้าแรก » ประชาสัมพันธ์