วันพุธ ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 09:53 น.

ประชาสัมพันธ์

กยท. พลิกโฉมตลาดประมูลยางสู่ Digital Platform เชื่อมโยงข้อมูลตลาดกลางผ่าน Thai Rubber Trade

วันพฤหัสบดี ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2566, 17.44 น.
กยท. พลิกโฉมตลาดประมูลยางสู่ Digital Platform
เชื่อมโยงข้อมูลตลาดกลางผ่าน Thai Rubber Trade 
 
 
กยท. เดินหน้าพัฒนาตลาดยางพาราสู่ Digital Platform  นำระบบ Thai Rubber Trade มาใช้ในการซื้อขายประมูลยางพารา เชื่อมโยงข้อมูลตลาดกลางยางพาราทั้ง 8 แห่ง และตลาดเครือข่ายกว่า 200 แห่งทั่วประเทศแบบ Real Time  มั่นใจช่วยสร้างราคาที่เป็นธรรมแก่ผู้ซื้อขาย  รวมทั้งสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาผลผลิตยางได้สอดรับกฎระเบียบนำเข้ายางของ EU
 
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า  กยท.  ได้ดำเนินโครงการพัฒนาตลาดยางพาราให้เป็น Digital Platform ผ่านระบบ Thai Rubber Trade โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการซื้อขายประมูลยางพารา ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานตลาดกลางยางพาราของ กยท. ทั้ง 8 แห่ง  และตลาดเครือข่ายกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้นำเทคโนโลยี Block chain มาใช้ในการทำธุรกรรมเพื่อเพิ่มความโปร่งใส แม่นยำ มีความน่าเชื่อถือในการตรวจสอบ และมีระบบตรวจสอบการโอนเงิน ลดความเสี่ยงในการปลอมแปลงบัญชี สามารถทำสัญญาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ด้วย Smart Contract
 
อย่างไรก็ตาม ในระยะแรก ภายในเดือนพฤษภาคม 2566 กยท.จะนำระบบ Thai Rubber Trade มาใช้ในการซื้อขายยางของ สำนักงานตลาดกลางยางพารา กยท. เป็นการนำร่องก่อน 4 แห่ง คือ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดเชียงราย  สำนักงานตลาดกลางจังหวัดหนองคาย สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดบุรีรัมย์ และสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดระยอง  หลังจากนั้นจะขยายผลนำระบบ Thai Rubber Trade มาใช้ในการซื้อขายยางของสำนักงานตลาดกลางยางพาราในพื้นที่ภาคใต้อีก 4 แห่งคือ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี  สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา และสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดยะลา เพื่อให้ครบทั้ง 8 แห่งภายในเดือนกันยายน 2566
 
นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์  ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กยท. เปิดเผยว่า ระบบ  Thai Rubber Trade เป็นระบบซื้อขายยางที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ระบบการซื้อขายยางด้วยวิธีการประมูลของ กยท. ให้เป็น Digital Platform  ซึ่งมีการพัฒนาระบบใช้งานผ่าน Mobile Platform และ Web Application ช่วยลดระยะเวลาในการทำธุรกรรม  และบริหารจัดการข้อมูลการซื้อขายยางทั้งหมดแบบ Real Time  ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อยางที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามความต้องการได้จากทุกตลาดกลางยางพาราและตลาดเครือข่าวทั่วประเทศ 
 
ทั้งนี้การนำระบบ  Thai Rubber Trade  มาใช้ซื้อขายยางเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบตลาดยางพาราของ กยท. ที่ช่วยสร้างราคาที่เป็นธรรม อีกทั้ง ยังเพิ่มโอกาสขยายช่องทางการตลาดให้เกษตรกรชาวสวนยาง นอกจากนี้เทคโนโลยี Block chain ที่นำมาใช้ในระบบ Thai Rubber Trade ยังรองรับการการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตยางพาราได้   สอดคล้องกับกฎระเบียบของ EU (EUDR : EU Deforestation-free Regulation) ที่กำหนดให้การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์จากยางจะต้องมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า รวมถึงการจัดการสวนยางพาราที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม  
 
“การซื้อขายยางผ่านระบบตลาดกลางของ กยท. ต้องลงทะเบียนสมาชิกทั้งผู้ซื้อและผู้ขายยาง กยท. สามารถเชื่อมโยงทะเบียนสมาชิกผู้ขายกับทะเบียนเกษตรกร จึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังพื้นที่สวนยางที่เป็นแหล่งผลิตได้อย่างถูก”   ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กยท. กล่าวในตอนท้าย