วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 03:11 น.

สังคม-สตรี

สตรีเมืองคอนร่วมรณรงค์สวมใส่ผ้าไทยสร้างรายได้มั่นคงยั่งยืน

วันศุกร์ ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2563, 16.50 น.

สตรีเมืองคอนร่วมรณรงค์สวมใส่ผ้าไทย สืบสานภูมิปัญญา สร้างรายได้ ให้เศรษฐกิจไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน “มาแลตะ คนเมืองคอน ใส่ผ้ายกสวยจังหู”

วันที่ 10 มกราคม 2563 ณ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการนครศรีธรรมราช นครแห่งอารยธรรม สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” กับจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการที่เป็นผู้แทนกระทรวง ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน และผู้แทนองค์กรภาคประชาชน ร่วมลงนาม รวม 29 ราย และมีสักขีพยาน ได้แก่ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ นายวิฑูรย์ นวลนุกูล ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายวรงค์ แสงเมือง พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช และผู้แทนองค์กรสตรี นำโดย นางกนกพร เดชเดโช ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดนครศรีธรรมราช และสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ร่วมในพิธีฯ รวมทั้งสิ้น 200 คน

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ กล่าวว่า ภารกิจของสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ กิจกรรมหลักจะเป็นเรื่องของสตรี มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพอาชีพ สืบสานโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ในฐานะที่เป็นประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ สตรีไทยควรมีหน้าที่ 4 ประการ คือ 1.ดูแลครอบครัว 2.ดูแลบุตร 3.สืบสานวัฒนธรรมประเพณี และ 4.ฝึกฝนพัฒนาตนให้มีความรู้ความสามารถทันต่อยุคสมัย การส่งเสริมการใช้ผ้าไทยจึงเป็นบทบาทหน้าที่หนึ่งของสตรีในการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนะธรรมท้องถิ่นของไทยให้คงอยู่ และเป็นการช่วยส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ ดังนั้น หาก 35 ล้านคน หันมาใส่ผ้าไทย ก็จะสร้างรายได้กลับสู่ชุมชน ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากสู่ความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน

สำหรับผ้ายกเมืองนคร เป็นผ้าที่มีมายาวนาน ใช้สำหรับชนชั้นสูง การแสดงโขนในปัจจุบันใช้ผ้ายกเมืองนครเป็นเครื่องแต่งกาย ชาวนครสามารถแสดงออกถึงความเป็นผู้มีอารยธรรม โดยการสวมใส่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ด้วยผ้ายกเมืองนคร และส่งเสริมศิลปวัฒนะธรรมของคนนคร

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวด้วยว่า กรมการพัฒนาชุมชน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ที่ได้ทรงรื้อฟื้นผ้าไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 ทรงได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ตลอดจนได้จัดประกวดการทอผ้า โดยในทางภาคใต้ได้จัดขึ้น ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ นำไปสู่การสร้างความตระหนักถึงความเป็นตัวตนของคนไทย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงตรัสในงานวันสตรีไทย ประจำปี 2562 จะทรงสืบสานรักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง

“คนรุ่นใหม่มักมองว่าการสวมใส่ผ้าทอทำให้ดูสูงวัย แต่หากมีการพัฒนาต่อยอด เราสามารถออกแบบเสื้อผ้าให้มีความทันสมัย หลากหลาย รวมทั้งต่อยอดลวดลายของผ้าให้มีความสวยงามและทันสมัย จะสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่มีอาชีพเกี่ยวกับการทอผ้า การตัดเย็บได้อย่างมากมาย นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง สังคมจะเข้มแข็งและยั่งยืน”อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าว

นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวแสดงความยินดี พร้อมระบุตนนั้นเป็นนักปกครองที่อยู่ในพื้นที่กับชาวบ้านมานาน จึงได้เห็นถึงความยากลำบากในการผลิตและจำหน่ายผ้าทอที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เมื่อได้มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด จึงมีแนวคิดที่จะสืบสานอารยธรรมของคนนคร ให้คงอยู่กับลูกหลานสืบไป โดยมีเป้าหมายให้เมืองนครเป็น "นครศรีธรรมราช นครแห่งอารยธรรม เราชาวนคร คือ อารยชน มุ่งมั่น สร้างสรรค์ ร่วมกันพัฒนาเมืองนคร"

ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ตามโครงการ “นครศรีธรรมราช นครแห่งอารยธรรม สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยอันมีอัตลักษณ์และทรงคุณค่า ศิลปะอันล้ำค่าของชาติ ให้ดำรงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และให้ทั่วโลกได้ชื่นชม อีกทั้งช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายด้วยผ้าไทย โดยเน้นในกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ ให้ใช้ผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมสืบสาน อนุรักษ์ผ้าท้องถิ่นไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน และที่สำคัญเพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ และเสริมสร้างรายได้ให้กลุ่มสตรีในท้องถิ่น