วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 05:20 น.

สังคม-สตรี

กยท.ฟันธง ปีนี้โอกาสทองราคายางสดใส คลอดมาตรการรักษาเสถียรภาพอย่างยั่งยืน

วันพฤหัสบดี ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564, 14.42 น.

กยท. มั่นใจหลายปัจจัยในปีนี้ส่งผลบวกต่อยาง เผยสถานการณ์แนวโน้มสดใส ราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  พร้อมใช้โอกาสทองปีนี้ เร่งดำเนินงานหลายโครงการ หวังสร้างเสถียรภาพด้านราคา - ความมั่นคงให้เกษตรกรชาวสวนยางอย่างยั่งยืน

​นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคายางพาราว่า  มีแนวโน้มที่ดีสภาวะตลาดโลกยังคงเอื้อให้ราคายางยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพในขณะนี้ เนื่องจากสภาวะราคาของน้ำยางสด และยางแปรรูปในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมาเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงมีความต้องการใช้ยางในตลาดมาก รวมทั้งตลาดยังมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพาราเพื่อสุขอนามัยและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นถุงมือยาง อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น   ทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปมีมากขึ้นสวนทางกับปริมาณผลผลิตน้ำยางในตลาดโลกที่ลดลง เพราะกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูปิดกรีด สวนยางพลัดใบ ประกอบกับสวนยางพาราที่ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียประสบโรคระบาด และเสียหายจากอุทกภัยรวมกว่า 5 ล้านไร่ จึงมั่นใจว่าแนวโน้มของราคายางแผ่นรมควันและยางก้อนถ้วยยังปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกตลาด 

​อย่างไรก็ตามเพื่อให้ราคายางมีเสถียรภาพและสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง  กยท.  ได้ดำเนินโครงการหลากหลายโครงการ   กำหนดเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางอย่างยังยืนขึ้นมา ได้แก่ โครงการบริหารจัดการน้ำยางสด  โดยสถาบันวิจัยยาง ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด กยท. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ สนับสนุนเทคโนโลยีการจัดเก็บน้ำยางสด เพื่อชะลอและขยายอายุการจัดเก็บน้ำยางสดจากเดิม 4-5 วัน เป็น 1-2 เดือน ให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ดังนั้น เกษตรกรจึงไม่จำเป็นต้องเทขายน้ำยางสดในคราวเดียว เป็นการป้องกันไม่ให้น้ำยางสดทะลักเข้าตลาดในเวลาเดียวกันเป็นจำนวนมากเกินไป และช่วยให้มีน้ำยางสดป้อนโรงงานเพื่อการผลิตอย่างสม่ำเสมอทุกฤดูกาล ส่งผลให้สามารถดำเนินกิจการแปรรูปยางพาราได้อย่างต่อเนื่อง โดย กยท.ได้สนับสนุนแท้งก์เพื่อจัดเก็บน้ำยางและเงินทุนหมุนเวียนให้เกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) เพื่อใช้เป็นเงินทุนซื้อน้ำยางสดมาจัดเก็บตามมาตรการดังกล่าว โดยมีเป้าหมายสามารถดึงน้ำยางออกจากตลาดได้กว่า 200,000 ตัน ขณะนี้เริ่มดำเนินการแล้วที่ จ.นครศรีธรรมราช และอยู่ระหว่างการขยายโครงการไปยัง จ.พัทลุงและ จ.สงขลา

 

​นอกจากนี้ กยท. ได้ดำเนินโครงการชะลอการขายยางก้อนถ้วยเพื่อรักษาสภาพคล่องให้เกษตรกร ช่วยให้เกษตรกรสามารถรอจำหน่ายผลผลิตในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้เช่นกัน โดยได้ดำเนินโครงการนี้กับสถาบันเกษตรกรทางภาคเหนือ ผลการดำเนินการเป็นที่น่าพอใจ อีกประการ คือ กยท.ได้สร้างจุดอ้างอิง (Benchmark) ราคายางแผ่นรมควันในตลาดกลางยางพาราในช่วงที่ราคายางแผ่นรมควันมีความผันผวนสูง ช่วยลดความผันผวนของราคายางแผ่นรมควันได้  

“ในอนาคตเมื่อเราบริหารจัดการสินค้ายางที่อยู่ในสต๊อคได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดเก็บยางไว้ได้ในช่วงความต้องการน้อยและนำออกจำหน่ายเมื่อมีความต้องการใช้ยางมาก จะช่วยให้ราคายางเกิดเสถียรภาพ ประกอบกับ กยท.ดำเนินการสนับสนุนด้านเงินทุน เครื่องมือ เทคโนโลยี องค์ความรู้ การบริหารจัดการ ฯลฯ ให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ก็จะเป็นรากฐานที่มั่นคงให้กับอาชีพการทำสวนยางได้ต่อไป ” ประธานกรรมการ กยท. กล่าวในตอนท้าย

 

หน้าแรก » สังคม-สตรี

ข่าวในหมวดสังคม-สตรี