วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 23:28 น.

สังคม-สตรี

‘อินฟอร์มา’ จัดงาน ฟู้ด อินกรีเดียนท์ เอเชียออนไลน์ ชี้เทรนด์โปรตีนจากพืช ความยั่งยืน และอาหารเพื่อสุขภาพใจมาแรง

วันอังคาร ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2564, 20.27 น.

อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผนึกกำลังรัฐ เอกชน เตรียมจัดงาน ฟู้ด อินกรีเดียนท์ เอเชีย (Fi Asia) หรืองานแสดงสินค้าและนวัตกรรมส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มแห่งเอเชียในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9 – 22 กันยายน นี้ รองรับผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ ชูจุดเด่นงานสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ด้านนวัตกรรมอาหารจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกกว่า 200 ราย พร้อมชี้เทรนด์ธุรกิจอาหาร แนะผู้ประกอบการสร้างนวัตกรรมสู้ศึกโควิด-19 

รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ-ภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า งาน Fi Asia ถือเป็นงานใหญ่ระดับอาเซียน และมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทั่วทั้งภูมิภาค ได้รับความสนใจจากองค์กรด้านอาหารชั้นนำมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 25 ปี ที่ผ่านมามีการขยายตัวของผู้เข้าชมงานและยอดธุรกรรมที่สูงขึ้นกว่าปีละ 25 %  และในปีนี้จะมีการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ โดยมีผู้ร่วมจัดแสดงสินค้าส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มผ่านงานแสดงสินค้าออนไลน์มากกว่า 200บริษัทจาก 31 ประเทศทั่วโลก เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่กำลังมองหาส่วนผสมอาหาร เพื่อสร้างจุดเด่นเชิงนวัตกรรมหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ถึงแม้เรายังคงต้องอยู่ในสถานการณ์การรับมือกับโรค COVID-19 แต่อย่างไรก็ตามธุรกิจจะต้องไม่หยุดนิ่ง ทางอินฟอร์มาได้เล็งเห็นความสำคัญของการดำเนินธุรกิจต่อไปโดยเฉพาะธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารที่มีความสำคัญต่อการเติบโตและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ จึงได้จัด งาน Fi Asia ครั้งนี้เป็นรูปแบบออนไลน์  ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยและอุตสาหกรรมการเกษตรไทยที่มีสินค้าเกษตรที่หลากหลายในการศึกษาเทคโนโลยีจากบริษัทชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก เพื่อนำไปพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน ลดระยะเวลาและกระบวนการการผลิตอาหาร ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพและคิดค้นสูตรอาหารให้เหนือกว่าคู่แข่งและเป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตผลการเกษตรสู่ส่วนผสมอาหาร รวมไปถึงช่วยสนับสนุนการเติบโตของตลาดอาหารแห่งอนาคต(Future Food) หรือ Functional Food ในประเทศไทย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เองที่จะช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย และสร้างการเติบโตของตลาดธุรกิจอาหารไทยอย่างต่อเนื่อง” รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์กล่าวเสริม

โดยภายในงานจะมีการนำเสนอนวัตกรรมที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการสายอาหารและเครื่องดื่มมากมาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนผสมอาหารที่สร้างกลิ่นและรสชาติ สารให้ความหวานแทนน้ำตาล สารเสริมเพื่อการควบคุมน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์จากนม แป้ง ส่วนประกอบเบเกอรี่ ตัวทำละลาย สารปรับเนื้อสัมผัส สารสกัดจากธรรมชาติ และส่วนผสมอาหารเพื่อสุขภาพเพื่อให้ตอบโจทย์กับเทรนด์ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

และเทรนด์ที่น่าสนใจในปีนี้ก็มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนทางเลือกจากแหล่งอื่น เช่น โปรตีนจากพืชหรือ Plant-based Protein อาหารสังเคราะห์จากห้องแล็บ (Lab-grown food) ที่เป็นทางเลือกใหม่ในการสร้างสรรค์วัตถุดิบ การอัพไซเคิล (Upcycle) เพื่อลดขยะอาหารที่อาจเกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านมาตรฐาน โดยมาทำเป็นสินค้าใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่ามากขึ้น การตรวจสอบที่มาที่ไปของอาหารได้อย่าง Food Traceability ที่มีประโยชน์กับทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ Cloud Kitchen ที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของธุรกิจส่งอาหาร delivery ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และอาหารที่มีมากกว่าแค่อิ่มท้อง คือต้องดีกับสุขภาพด้วย เกิดเป็นเส้นแบ่งที่จางลงของร้านยาและซุปเปอร์มาร์เก็ตส์ เพราะด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปใส่ใจในการเลือกรับประทานมากขึ้น รวมไปถึงการเลือกรับประทานยอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยอย่าง Well-mental eating คือการรับประทานเพื่อส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท หรือหาส่วนผสมที่ช่วยให้รู้สึกและลดความวิตกกังวล นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการท่องเที่ยวสายกินอย่าง Food tourism ที่ความต้องการท่องเที่ยวมาพร้อมกับประสบการณ์การกินในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

8 เทรนด์อาหาร Post-Covid จากงานฟู้ด อินกรีเดียนท์ เอเชีย ออนไลน์

1. Protein New normal รูปแบบใหม่ของโปรตีน : วงการอาหารทั่วโลกกำลังให้ความสนใจโปรตีนทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนจากแมลง จากถั่ว ธัญพืช และสาหร่าย โดยเฉพาะ โปรตีนจากพืชอย่าง Plant-based Meat, Plant-based Meal, Plant-based Milk และ Plant-based Egg น่าจะกลายเป็นกระแสหลักที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอาหารรองรับเทรนด์อาหารโลก โดยเทรนด์โปรตีนรูปแบบใหม่นี้เกิดขึ้นจาก นวัตกรรมอาหารที่พัฒนาให้ตอบโจทย์เรื่องรสชาติ เนื้อสัมผัส และคุณค่าทางอาหาร ผู้บริโภคทั่วโลกที่หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น และกระแสปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (Flexitarian) การตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) และปัญหาด้าน Food Security โดยในประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่าตลาดโปรตีนทางเลือกในไทย ที่มีมูลค่ากว่า 3.62 หมื่นล้านบาท ในปี 2564 และมีโอกาสขยับไปสู่ 5,000 ล้านบาทได้ภายในปี 2567

2. Lab-grown food อาหารจากห้องแล็บ : Lab-grown food หรือ Cultured Food เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าสนใจเพราะอาหารเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากการเพาะเลี้ยงเซลล์เล็กๆ ในห้องแล็บและพัฒนาขึ้นมาเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารได้เลยโดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการธรรมชาติ ทั้งยังสามารถพัฒนาได้มีผลิตภัณฑ์หลากหลายมาก เช่น เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม เจลาติน คอลลาเจน ซึ่งล่าสุดสิงคโปร์อนุมัติให้จำหน่ายเนื้อสัตว์จากห้องแล็บ (Lab-grown meat) เป็นประเทศแรกของโลก และบริษัทสตาร์ทอัพจากอเมริกาอย่าง Eat Just เองก็เริ่มวางแผนที่จะขายนักเก็ตไก่โดยใช้วัตถุดิบเป็นเนื้อไก่จากห้องแล็บ ข้อดีที่ทำให้อาหารสังเคราะห์เริ่มมีบทบาทในอุตสาหกรรมมากขึ้นเนื่องมาจากผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจในการหาอาหารแบบทางเลือกมากยิ่งขึ้นเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ การเลือกบริโภคอาหารจากห้องแล็บอาจเป็นหนึ่งในทางออกที่ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้

3. Upcycle Food สร้างมูลค่าจากขยะอาหารด้วยการอัพเกรด + รีไซเคิล : ความยั่งยืนที่เกิดจากการจัดการขยะ ในอุตสาหกรรมอาหาร จึงเกิดเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ที่นำการ Upgrade + Recycle มาผสมผสานจนเกิดเป็น “อัพไซเคิล” เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยจะนำเอาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านมาตรฐาน เช่น ผลไม้ช้ำ ผลไม้ที่ใกล้จะเสียมานำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ อาทิ ขนมยี่ห้อ Barnana ที่เอากล้วยช้ำมาทำสแน็คกล้วย หรือ Barvocado ที่เอาเมล็ดอะโวคาโด้มาทำธัญพืชอัดแท่ง โดยมีรายงานจาก Future Market ว่าตลาดอาหารอัพไซเคิลมีมูลค่าถึง 46.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตประจำปีอยู่ที่ร้อยละ 5 ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า และปัจจุบันสมาคม Upcycled Food Association ก็เริ่มออกใบรับรองและตราสัญลักษณ์ให้กับอาหารแบบอัพไซเคิล จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบการอาหารที่จะได้พัฒนาสินค้าของตนเองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

4. Food Traceability ทุกอย่างที่กินต้องตรวจสอบได้ : เทรนด์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นผลมาจากการระบาดของ Covid-19 เพราะผู้บริโภคมองหาความปลอดภัยจากอาหารมากยิ่งขึ้น การตรวจสอบอาหารย้อนกลับ หรือ Food Traceability ประกอบด้วย 2 ปัจจัย คือ 1. Tracing การสำรวจประวัติทั้งหมดของห่วงโซ่อาหาร ถือเป็นการมองย้อนหลังไปยังที่มาของวัตถุดิบ 2. Tracking คือการปักหมุดของแต่ละสินค้าว่าผ่านที่ใดมาบ้างตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงจุดจำหน่าย โดย Food Traceability นั้นไม่ได้มีประโยชน์กับผู้บริโภคในแง่ของการตรวจสอบถึงที่มาของอาหารได้เท่านั้น แต่ยังดีกับผู้ประกอบการด้วยเพราะสามารถใช้การตรวจสอบจัดการดูแลห่วงโซ่อุปทานได้เช่นกันในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น เช่น การปนเปื้อนสารพิษก็จะตรวจสอบย้อนได้ว่าอยู่ในล็อตการผลิตใด

5. Cloud Kitchen มีครัวแต่ไม่ต้องเห็นครัว : ธุรกิจ Food Delivery คือเทรนด์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในบ้านเราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ยิ่งช่วยเร่งการเติบโตของ Food Delivery ให้เติบโตสูงขึ้นอีก จากการเติบโตของ Food Delivery นี้เองที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิด Cloud Kitchen หรือที่รู้จักในชื่ออื่นๆ อย่าง Ghost Kitchen, Dark Kitchen, Virtual Kitchen พื้นที่สำหรับให้ร้านอาหารต่างๆสามารถมาเช่าครัวในการทำอาหารสำหรับการ Delivery โดยเฉพาะ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดสาขาใหม่ โดยสิ่งที่ต้องทำคือการส่งพนักงานไปที่ Cloud Kitchen เท่านั้น เพราะพื้นที่ครัวเช่านี้จะมีพื้นที่ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นอย่างครบถ้วน

 6. Rising of Food Tourism การท่องเที่ยวสายกิน : หลังสถานการณ์การระบาดของโควิดคลี่คลาย ดีมานด์ความต้องการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก และอาหารจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการออกท่องเที่ยว ผลสำรวจระบุว่า นักท่องเที่ยวกว่า 53% เลือกสถานที่ท่องเที่ยวจากอาหารและเครื่องดื่ม การท่องเที่ยวในธีมอาหารนี้จะมาในหลายรูปแบบ เช่น Food Festival – งานเทศกาลอาหารที่มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคสัมผัสประสบการณ์วัฒนธรรมตลอดจนวัตถุดิบในท้องถิ่น รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่หลากหลายและมีความเฉพาะถิ่นมากยิ่งขึ้น

7. Blurring line between the Drugstore and Grocery เส้นแบ่งที่จางลงของร้านยาและซุปเปอร์มาร์เก็ตส์ : Innova Market Insights พบว่าผู้บริโภคทั่วโลก 6 ใน 10 คนสนใจอาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน อาหารจึงไม่เพียงต้องตอบโจทย์ในเรื่องความอิ่มท้อง หากแต่ต้องดีต่อสุขภาพ ในอนาคตอันใกล้เราจะได้เห็น โพรไบโอติกส์ วิตามินซี สมุนไพร และสารพัดส่วนผสมเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน กลายเป็นส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มที่จำหน่ายอยู่ในร้านค้าปลีก ไม่เว้นแม้แต่ขนมขบเคี้ยว นอกจากนี้แนวคิดการออกแบบโภชนาการให้เหมาะสมกับร่างกายแบบเฉพาะบุคคล โดยคำนึงถึงการใช้ชีวิต สารอาหาร และสุขภาพ จึงเกิดขึ้นด้วยการใช้ข้อมูลระดับพันธุกรรม ที่เรียกว่า Microbiome Data จัดอาหารในแบบ Personalized ซึ่งจะมุ่งเน้นในเรื่องของการไดเอตเป็นหลัก และใช้ Biomarker Data ในเลือด นำไปวางแผนกำหนดอาหาร ยา และการออกกำลังกายก็กำลังมาแรงเช่นกัน

8. Well-Mental Eating กินแล้วดีต่อใจ ​: นอกจากจะให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและภูมิคุ้มกันแล้วผู้บริโภคยังให้ความสำคัญและตระหนักถึงสุขภาพจิตที่ดีด้วย โอกาสทางธุรกิจของกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้ ส่วนใหญ่มักเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใส่สารเสริมที่ช่วยลดความเสียหายจากอนุมูลอิสระและการอักเสบของสมอง หรือ การกินเพื่อช่วยส่งเสริมการทำงานของสารสื่อประสาท ทำให้การทำงานดีขึ้น อาทิ อาหารที่ผสมสารสกัดจากกัญชา หรือส่วนประกอบอื่นๆมีสรรพคุณช่วยให้รู้สึกสงบและลดความวิตกกังวล หรือ Probiotics – นอกจากช่วยสร้างภูมิคุ้มกันแล้วยังช่วยเรื่องสุขภาพจิตใจได้ด้วย โดยนำมาใช้ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าได้ เป็นต้น

สำหรับรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบออนไลน์ ผู้เข้าชมงานสามารถค้นหาสินค้าและผู้ประกอบการที่สนใจได้อย่างง่ายได้จากการใช้เทคโนโลยี AI ในการแนะนำสินค้าหรือผู้จัดแสดงสินค้าที่คาดว่าตรงกับความต้องการ รวมถึงการนัดหมายเจรจาธุรกิจล่วงหน้า และฟังก์ชันการพูดคุยผ่าน video conference หรือช่อง chat เพื่อสร้างความสะดวกสบาย นอกจากนวัตกรรมส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มจากบริษัทชั้นนำแล้ว ผู้เข้าร่วมงานยังสามารถรับชมสัมมนาคุณภาพหลากหลายในรูปแบบการรับชมสดและย้อนหลังไม่ว่าจะเป็นหัวข้อ “สร้างนวัตกรรมอาหารด้วย Plant-based ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวเอเชีย” อัพเดตตลาดอาเซียน: ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์” (ASEAN Market Update: Thailand Indonesia Philippines) “การสกัดผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและสมุนไพร” (Herbal and Natural Extract) “วิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการไทยในตลาดอาหารแห่งอนาคต” (Visions of Thai Entrepreneur in Future Food) สัมมนาเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เช่น เรื่องของอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย (Surplus Food) รวมถึงสัมมนานวัตกรรมส่วนผสมอาหารจากประเทศสหรัฐอเมริกาและหัวที่น่าสนใจกว่า 40รายการ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Round Table Discussion ที่ผู้เข้าฟังสามารถแสดงความคิดเห็นกับผู้บรรยาย และ Product Pitching ในส่วนสินค้าส่วนผสมจากธรรมชาติ ส่วนผสมจากแป้ง และส่วนผสมโปรตีนจากพืช ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้า Fi Asia Online Event ได้ตั้งแต่วันที่ 9-22 กันยายน 2564 ผ่านทาง www.fiasia.com/thailand

หน้าแรก » สังคม-สตรี

ข่าวในหมวดสังคม-สตรี