อาชญากรรม » คอลัมน์
บ้านเมืองพระเครื่อง
อ. วันชัย : วันอาทิตย์ ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564, 06.03 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

พระเด่นคนดังบ้านเมือง (28 พ.ย.64)
“พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่สุดยอดองค์ครู”
ด้วยวันที่ 5 ธันวาคม ทุกปีเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ท่านเจ้าของพระวัดระฆังพิมพ์ใหญ่องค์นี้ก็คือ ท่านไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ จึงขออัญเชิญพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่องค์นี้ ลงเป็นมหามงคลดลบันดาลให้ท่านอายุยืนยาวเป็นมิ่งขวัญของคนวงการพระสืบไป พระพิมพ์ใหญ่พิมพ์นี้ค่อนข้างหายาก ในสมัยก่อนเรียกกันว่า พิมพ์พระประธาน เนื่องจากองค์พระจะมีขนาดเขื่องกว่าแม่พิมพ์อื่นๆเล็กน้อย องค์พระจะล่ำสันกว่าทุกพิมพ์สังเกตดูใต้หน้าตักขององค์พระเห็นเส้นแซมใต้ตักชัดเจน ต่างจากแม่พิมพ์อื่นๆ ของพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ พระกรรณ(หู)ชัดเจน พระพิมพ์นี้จัดว่าเป็นพิมพ์หายากที่สุดในบรรดาพระพิมพ์ใหญ่วัดระฆัง วงการพระเครื่องยอมรับกันว่าสวยสมบูรณ์มากของแม่พิมพ์นี้
“พระพุทธรูปสมัยเชียงแสนสิงห์หนึ่ง”
หมายถึงพระพุทธรูปสร้างในสมัยเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปที่งดงามมาก ทางโบราณคดีจึงขนานนามตามถิ่นเดิม ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีกล่าวว่ายุคแรกเป็นฝีมือช่างอินเดีย ต่อมาภายหลังจึงเป็นฝีมือช่างไทยล้านนา ล้านช้าง พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่งเกิดขึ้นในระหว่า พ.ศ.1600 ถึง พ.ศ. 2089 สร้างด้วยโลหะ เนื้อสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่งเป็นพระยุคแรกมีพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธรูปสมัยอินเดีย ปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิเพชร องค์พระจะท้วม สังฆาฏิสั้น พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่งองค์นี้จัดว่ามีศิลปะงดงามยิ่งองค์หนึ่งที่ อ.เล็ก รูปหล่อเพิ่งได้มาและเก็บซ่อนไว้ในตู้เซฟอย่างมิดชิด รู้ข่าวจึงขออนุญาตนำลงให้ชมกัน
“พระรอดพิมพ์ใหญ่ วัดมหาวัน จ.ลำพูน”
พระรอดวัดมหาวัน จ.ลำพูน ผู้รู้บางท่านกล่าวว่าตามหลักศิลาจารึก พระเจ้าสววาธิสิทธิ์ อยู่ปลายสมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 17 ประมาณ พ.ศ. 1600 ได้สร้างวัดและพระเจดีย์ เพื่อให้พระพุทธศาสนายืนยงอยู่ครบ 5,000 ปี สันนิษฐานว่าพระองค์สร้างพระรอดเนื้อดิน กรุวัดมหาวันไว้เมื่อเกือบ 1,000 ปีแล้ว จากศิลาจารึก ลพ/26 ทราบว่าพระโพธิรังสี พระเถระชาวล้านนา(พ.ศ.2043)เป็นผู้แต่งเรื่องจามเทวีวงศ์ เป็นภาษาบาลี ซึ่งห่างไกลจากสมัยพระเจ้าสววาธิสิทธิ์ผู้ให้สร้างพระรอดถึง 400 ปี ก็เป็นอีกตำนานหนึ่งที่อ้างถึง พระรอดพิมพ์ใหญ่องค์นี้อยู่ในความครอบครองของ หมอสมสิทธิ์ นิธิธนนต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง จังหวัดอุดรธานี
“พระสมเด็จบางขุนพรหมพิมพ์ใหญ่ กรุเก่า”
พระสมเด็จบางขุนพรหมกรุเก่า พิมพ์ใหญ่ พร้อมใบเซอร์สมาคมองค์นี้ ของ ใหญ่ สุรินทร์ พุทธศิลปะพิมพ์ทรงไม่ต่างจากพิมพ์ใหญ่ของวัดระฆังฯ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)สร้างเพื่อบรรจุในพระเจดีย์วัดบางขุนพรหม(วัดใหม่อมตรส) ประมาณปี พ.ศ.2413 เท่าที่พบหลังจากเปิดกรุเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2500 มีด้วยกัน 9 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ฐานแซม พิมพ์เกศบัวตูม พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์เส้นด้าย พิมพ์ฐานคู่ พิมพ์สังฆาฏิ และพิมพ์อกครุฑ พระสมเด็จบางขุนพรหมพิมพ์ใหญ่องค์นี้กรุเก่า เป็นพระที่ถูกใช้เบ็ดตกลอบนำออกมาจากเจดีย์ก่อนปี 2500 จึงไม่มีคราบกรุหนาๆจับอยู่ให้เห็นจะมีแต่เพียงฟองเต้าหู้ที่ขึ้นเป็นคราบขาวบางๆเท่านั้น จึงเป็นพระสมเด็จที่ได้รับความนิยมของนักสะสมและมีราคาสูง
“พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซม”
พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซมองค์นี้แม้จะผ่านการบูชาใช้มาบ้างแล้วแต่พุทธลักษณะพิมพ์ทรงโดยรวมยังอยู่ในความคมชัดโดยเฉพาะเส้นพระกรรณใบหูเห็นได้ทั้งสองข้าง พระอุระหน้าอกผึ่งผาย พระเกศทะลุซุ้ม เห็นเส้นติ่งของปลายเกศอยู่เหนือเส้นซุ้มด้านบน ในส่วนเนื้อพระวัดระฆังฯ มีการจับตัวของเนื้อค่อนข้างแน่นหนึบผิวมีความหนึกนุ่ม ก้อนมวลสารและริ้วรอยบนผิวก็ยังปรากฏให้เห็นเป็นธรรมชาติอย่างชัดเจน พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซมองค์นี้ถือว่าเป็นพระองค์ครูองค์มาตรฐานสากลให้ศึกษาเป็นแบบอย่างได้อย่างไร้ข้อสงสัย อยู่ในความครอบครองของ คุณภูดิศ นนทพิมลชัย นักธุรกิจดังย่านบางบัวทอง
“รูปหล่อหลวงพ่อเงินบางคลานพิมพ์นิยม”
หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ แห่งวัดบางคลาน พิจิตร ท่านเป็นพระเกจิเถราจารย์ผู้มีวิชาอาคมแก่กล้า จิตใจเปี่ยมด้วยเมตตาชนทุกชั้น มีลูกศิษย์ลูกหานับถือศรัทธาจำนวนมาก ในสมัยที่ท่านยังอยู่มีผู้เดินทางไปกราบนมัสการท่านไม่เคยเว้นว่าง เรื่องปลุกเสกพระเครื่องศรัทธาขอของดีหรือนำวัตถุมงคลให้ท่านลงใช้คุ้มครองชีวิตท่านก็ลงอาคมปลุกเสกให้ ด้วยจิตเมตตา มงคลวัตถุที่หลวงพ่อเงินสร้างและปลุกเสกไว้มีหลายรูปแบบ เช่น ตะกรุด มีดหมอ ผ้าประเจียด เสื้อยันต์ ลูกประคำ งาแกะ มนต์ และพระเครื่อง รูปหล่อหลวงพ่อเงินพิมพ์นิยมเป็นอมตะตลอดกาล พระรูปหล่อ เทหล่อด้วยกรรมวิธีเทหล่อทั้ง 4 พิมพ์ได้แก่ รูปหล่อ หลวงพ่อเงินพิมพ์นิยม รูปหล่อหลวงพ่อเงินพิมพ์ขี้ตา เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่และเหรียญหล่อพิมพ์จอบเล็ก รูปหล่อหลวงพ่อเงินพิมพ์นิยมองค์นี้ของ ดร.พิทักษ์ สันติวงษ์สกุล อดีต ส.ส.จังหวัดพิษณุโลก
“เสือหลวงพ่อปาน แห่งวัดบางเหี้ย”
ถือเป็นอันดับ 1 แห่งเครื่องรางที่มีคุณวิเศษล้ำเลิศและสูงด้วยมูลค่า ผู้นิยมพระเครื่องและเครื่องรางทั้งหลายต่างปรารถนาจะได้เป็นเจ้าของด้วยประจักษ์ในอิทธิฤทธิ์ มายาวนาน โดยเฉพาะ “แคล้วคลาดคงกระพัน สูงด้วยอำนาจตบะเดชะ” เหมาะกับผู้ที่ต้องการบารมีและคุ้มครองตนเองและครอบครัว อีกทั้งยังให้โชคลาภ การงานเจริญรุ่งเรืองไม่มีตกอับ เสือหลวงพ่อปานคลองด่านตัวนี้อยู่ในความครอบครองของ พ.ต.อ.ธีรศักดิ์ ไชยโยธา รอง ผบก.ภ.จว.สงขลา
“พระแจกนักรบองค์แรกของไทย”
พระท่ากระดาน เนื้อตะกั่วสนิมแดง เจ้าเมืองท่ากระดานให้ฤาษีตาไฟ อยู่ในถ้ำลั่นทมสร้างพระท่ากระดานและปลุกเสกแจกทหารไปสู้รบกับข้าศึก ฟันแทงไม่เข้า มีชื่อเสียงโด่งดังมากว่า 600 ปี ได้ชื่อว่า “ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง” เนื้อพระเป็นเนื้อตะกั่วป่ามีไขสีขาว มีทั้งสนิมสีแดงจัด สนิมไม่แดงจัด มีขนาดไม่ใหญ่มากสามารถติดตัวไปได้ มีพระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์ชัดเจน จึงเป็นพระที่มีศิลปะสวยงาม และมีความนิยมมากด้วยพุทธคุณเด่นด้านอยู่ยงคงกระพัน หยุดกระสุนปืน แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง สอบถามและชมพระได้ที่ ร้าน อ.โกร่ง ศรีสวัสดิ์ สนามพระ SC สายใต้ใหม่ชั้น 2
“เหรียญหลวงพ่อน้อยวัดธรรมศาลารุ่นแรก”
เหรียญทรงเสมาหลวงพ่อน้อยวัดธรรมศาลา จ.นครปฐม รุ่นแรก สร้างในปี พ.ศ. 2496 เป็นเหรียญอัดพิมพ์เนื้อโลหะผสมทองแดง ด้านหน้าเหรียญ ด้านบนมีอักษรตัวนูน เขียนคำว่า หลวงพ่อน้อย ที่ตัว “ห” มีขีดบริเวณหัว ขอบหน้ามีลายกนก กึ่งกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อน้อยครึ่งองค์หน้าตรง ด้านล่างรูปหลวงพ่อน้อยแนวอกตัดตรงไม่มีส่วนใดชิดขอบ จุดสังเกตมีเส้นขนแมวคมๆขวางเหรียญด้านหลังเหรียญเรียบ มียันต์นะปถมังตรงกลางเป็นเส้นนูนขึ้นมา เหรียญนี้ปัจจุบันหายาก อยู่ในความครอบครองของ พรเทพ เกิดเมืองพระ
“พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์เกศบัวตูม”
พระสมเด็จพิมพ์เกศบัวตูมต้องมีพิมพ์ทรงอย่างนี้จัดเป็นพิมพ์มาตรฐานสากล ดูให้ดีคล้ายพิมพ์ทรงเจดีย์แต่มีแซมที่ฐานชั้นกลาง ฝีมือช่างหลวงสมัยรัตนโกสินทร์แกะพิมพ์ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี เป็นผู้สร้างและปลุกเสก ณ วัดระฆังฯ กรุงธนบุรี ทำไปแจกไปจึงไม่ทราบจำนวนแน่นอน ประเภทเนื้อพระผู้เชี่ยวชาญสายตรงบอกว่าเป็นพระเนื้อผงสีขาว ผสมผงวิเศษของสมเด็จโต มี ผงปถมัง อิธะเจ มหาราช พุทธคุณ ตรีนิสิงเห ข้าวสุก กล้วย ปูนเปลือกหอยและเกสรดอกไม้มงคลมีน้ำมันตั้งอิ้วเป็นตัวประสาน พระวัดระฆังต้องไม่มีคราบกรุ ฟองเต้าหู้ติดอยู่ องค์นี้อยู่ในความครอบครองของ เสี่ยตูน เมืองจันทร์ ราชาพระสมเด็จ
“พระสมเด็จปิลันทน์ พิมพ์ซุ้มประตู”
พระสมเด็จปิลันทน์ได้รับความนิยมสูงเป็นพระเครื่องที่ สมเด็จพระพุทธบาทปิลันทน์(ทัด) วัดระฆัง ลูกศิษย์ใกล้ชิดสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ได้รับความไว้วางใจให้ปกครองดูแลวัดแทนสืบมา สมเด็จพระพุทธบาทปิลันทน์ดำริสร้างพระพิมพ์ให้ครบ 84,000 องค์ด้วยแบบฝีมือช่างหลวง ในช่วงปี 2407 ท่านจึงสร้างพระด้วยเนื้อผงใบลานแจกส่วนหนึ่งและบรรจุในพระเจดีย์ที่วัดระฆังอีกส่วนหนึ่ง พระปิลันทน์เป็นพระเนื้อผงใบลานเผาผสมผงวิเศษ ของสมเด็จพระพุฒาจารย์โตท่านได้เมตตาปลุกเสกให้ด้วยพระคาถาชินบัญชร ศิลปะของพระปิลันทน์ทุกพิมพ์ฝีมือช่างหลวงจึงมีศิลปะงดงาม ปัจจุบันนิยมเรียกขานกันว่า “พระเครื่องสองสมเด็จ” องค์นี้พิมพ์ซุ้มประดูของ คุณธัลดล บุนนาค
“เหรียญหลวงพ่อทวด เลื่อนสมณศักดิ์เนื้อทองคำขาว”
แปลกแต่มีอยู่จริงที่ เสี่ยกุ่ย รัชดาเจ้าของรังพระทองคำ เหรียญหลวงพ่อทวดรุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ ปี 2508 ที่พบเห็นกันบ่อยในสื่อต่างๆมีเนื้อทองคำ เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง แต่เหรียญนี้มีคนนำมาขายให้เสี่ยกุ่ย รัชดา ตีราคาแพงมาเลยแหละ เสี่ยกุ่ยไม่เชื่อเข้าใจว่าเป็นเหรียญเนื้ออัลปาก้ามากกว่า จึงใช้เครื่องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถบอกค่าของเนื้อโลหะได้ทุดชนิด เป็นเครื่องฟูอออเรสเซ้นต์มีโปรแกรมเฉพาะพอเข้าเครื่องผลบอกออกมาว่าเป็นเหรียญเนื้อทองคำขาว 18 k ตลับที่ใส่เหรียญมาด้วยก็เป็นทอง 18 k เช่นเดียวกันเลย เสี่ยกุ่ยบอกด้วยว่าเหรียญนี้อาจารย์ทิม วัดช้างคงจะมีลูกศิษย์ที่เป็นคหบดีมีเงินนำทองคำขาวมาให้ท่านทำ เมื่อทำแล้วท่านจึงตัดหูหรือห่วงออกเพื่อให้มีความเป็นมงคล “หมดห่วง หรือไม่ต้องห่วงอะไรอีกแล้ว” ทุกวันจะมีนักสะสมพระเครื่องนำพระมาให้ศูนย์พระรัชดาตรวจเช็ค ล่าสุด คุณปราโมทย์ พลีพัฒนากร จาก จ.ระยองนำพระสมเด็จมาเช็คพร้อมพระหลวงพ่อทวดเนื้อว่านรุ่นแรกปรากฎว่าผ่านทั้งหมดปรากฏมวลสารครบ
“พระสมเด็จพิมพ์เกศบัวตูม วัดระฆัง ธนบุรี”
พระสมเด็จพิมพ์เกศบัวตูมวัดระฆังฯ เป็นพระที่พบเห็นน้อยที่สุดของพระวัดระฆังฯ แม้จะมีมูลค่าสูงแต่ก็มีผู้สนใจแสวงหากันมาก เพราะหากได้พระแท้มาไว้ครอบครองบูชาก็เสมือนเปี่ยมด้วยบุญบารมีมีวาสนาอันล้ำเลิศ ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจเป็นที่สุด พระสมเด็จพิมพ์เกศบัวตูมองค์นี้ผิวพรรณวรรณะมีความนวลผ่องแบบฉบับของพระวัดระฆัง การจับตัวของเนื้อมีความแน่นสูง มีน้ำหนักจากมวลสารภายใน อ.นิด มหานคร ท่านนี้มีความรู้ประสบการณ์ดีรับจัดงานประกวดพระ งานประชุมสัมมนาว่าด้วยพระเครื่อง และยังเป็นมือถ่ายภาพพระเครื่องลงหนังสือพระหลายๆเล่มด้วยฝีมือขั้นเทพ เสียดายท่านไม่ได้ให้โทรศัพท์มา
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » อาชญากรรม » คอลัมน์
คอลัมน์ล่าสุด ![]()
ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2559
ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์- วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2559 07:02 น.
- เกียรติตำรวจ... 05:59 น.