วันพฤหัสบดี ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 14:05 น.

การเมือง

"นายกฯ แพทองธาร" เผยผลประชุมอาเซียน ไทยได้เกินคาด – ปรับภูมิทัศน์การเมืองอาเซียน  ผนึกกำลังส่งข้อเสนอคุยสหรัฐฯ

วันอังคาร ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 19.23 น.

"นายกฯ แพทองธาร เผยผลการประชุมอาเซียนครั้งที่ 46 พลิกโฉมเวทีภูมิภาค ไทยสนับสนุนท่าทีร่วมของอาเซียน ทั้งปัญหาเมียนมา ทะเลจีนใต้ พร้อมดัน “ASEAN 2045” สร้างอนาคตสันติภาพและเสถียรภาพ ท่ามกลางการแข่งขันมหาอำนาจและมาตรการภาษีสหรัฐฯ 

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2568   เวลา 15.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย พอใจผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงผลสำเร็จสำคัญ 2 ประการ คือ  1) อาเซียนได้ลงนามและตกลงในปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา (Kuala Lumpur Declaration on ASEAN 2045: Our Shared Future) เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ฉบับใหม่ที่กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนในอีก 20 ปีเพื่อรับรองวิสัยทัศน์นี้ 2) เป็นครั้งแรกที่มีการประชุม 3 ฝ่าย ระหว่าง อาเซียน คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) และจีน เพื่อสร้างพลวัตความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ  

โดยในครั้งนี้ อาเซียนได้ให้ความสำคัญกับการรักษาให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีสันติภาพและเสถียรภาพ เพื่อให้อาเซียนสามารถรับมือกับความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิเศรษฐศาสตร์ของ โลก โดยเฉพาะการแข่งขันของมหาอำนาจ รวมถึงมาตรการในการรับมือกับมาตรการภาษีของอเมริกา 

ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนการรับติมอร์-เลสเตเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน รวมถึงใช้โอกาสนี้ย้ำท่าทีของไทยต่อประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเมียนมา ทะเลจีนใต้ และตะวันออกกลาง 

ด้านเศรษฐกิจ ไทยผลักดันการรวมตัวในภูมิภาคให้แน่นแฟ้น และมีเอกภาพ ควบคู่ไปกับการบูรณาการห่วงโซ่อุปทาน เพื่อรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเสนอให้ประเทศอาเซียนใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ และขยาย FTA กับหุ้นส่วนใหม่ ๆ รวมทั้งส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและพลังงานผ่านการจัดทำ ASEAN Power Grid 

ที่ประชุมฯ ยังได้หารือเรื่องผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งผู้นำอาเซียนได้ยึดมั่นในท่าทีร่วมกัน คือ การยึดถือระบอบการค้าระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่บนหลักการที่ยอมรับร่วมกัน และพร้อมเจรจากับสหรัฐฯ อย่างสร้างสรรค์

ด้านสังคม การส่งเสริมประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะการร่วมมือกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติโดยเฉพาะยาเสพติด และ online scams  

ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนวาระสีเขียวเพื่อบรรลุเป้าหมาย “green ASEAN” โดยเน้นเรื่อง green finance การรับมือกับภัยพิบัติ และ climate change การแก้ไขปัญหาหมอกควัน พลังงานสะอาด และ digital transformation ซึ่งไทยมีแผนที่ชัดเจนในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานอยู่แล้ว โดยเฉพาะพลังงานสะอาด ที่ไทยมีศักยภาพสูงและยังมีการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในไทยในด้าน data center 

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการหารือทวิภาคีว่า ได้มีพบปะหารือกับผู้นำหลายประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ คูเวต UAE และบาห์เรน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยคูเวต UAE และบาห์เรน มีความสนใจที่จะลงทุนในโครงการ Landbridge และพร้อมร่วมมือในการส่งเสริมด้านความมั่นคงทางอาหารที่ไทยมีศักยภาพ นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสพบกับประธาน Asian Development Bank เพื่อหารือถึงการลงทุนเพื่อการพัฒนาในภูมิภาคด้วย 

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเข้าร่วมประชุมฯ ในครั้งนี้ว่า ถือเป็นการต่อยอดศักยภาพของไทยในด้านต่างๆ พร้อมเสริมสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคอาเซียน ผ่านความร่วมมือกันภายในภูมิภาคกับกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) และจีน ซึ่งต่างเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน รัฐบาลไทยเชื่อมั่นว่าการร่วมมือกันดังกล่าว จะเกิดผลประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน สร้างรายได้ สร้างอาชีพใหม่ ๆ การพัฒนาทุนมนุษย์ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล

สำหรับประเด็นภาษีของสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าประธานอาเซียน ได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือของภูมิภาค โดยใช้การรวมตัวกันของอาเซียนในการพูดคุยกับสหรัฐฯ  เพื่อเป็นพลังยิ่งขึ้น 

"หลายประเทศ ได้ส่งข้อเสนอไปยังสหรัฐอเมริกาแล้วเช่นกัน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการรอนัดหมายเพื่อพูดคุยกันในรายละเอียดกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งไทยไม่ได้ช้าเกินไป คาดว่าน่าจะมีความคืบหน้าเร็ว ๆ นี้" นายกรัฐมนตรี กล่าว

หลังจบภารกิจนายกฯเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศ มาเลเซียกลับถึง ประเทศไทยในช่วงค่ำวันเดียวกันนี้

หน้าแรก » การเมือง

ข่าวในหมวดการเมือง