วันพฤหัสบดี ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:31 น.

ภูมิภาค

Kick Off สถานชีวาภิบาล ทน.อ้อมน้อย ชุมชนต้นแบบนำร่องแห่งแรกในจังหวัด และ เขตสุขภาพที่ 5 ราชบุรี

วันพุธ ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2567, 13.54 น.

เมื่อวันที่ 09 มกราคม 2567 ที่เทศบาลนครอ้อมน้อย ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร นายแพทย์สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานเปิดสถานชีวาภิบาลเทศบาลนครอ้อมน้อย ชุมชนต้นแบบนำร่องแห่งแรกในจังหวัดสมุทรสาคร และ เขตสุขภาพที่ 5 ราชบุรี โดยมีนายบุญชู นิลถนอม นายกเทศมนตรีนครอ้อมน้อย เป็นผู้ถึงความเป็นมาและความสำคัญในการจัดตั้งสถานชีวาภิบาลเทศบาลนครอ้อมน้อย ร่วมด้วย นพ.วิเชียร ตันสุวรรณนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี นายแพทย์ธรรมวิทย์ เกื้อกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกระทุ่มแบน นายฐิติวัชร์ วารีรัตน์ภากร สาธารณสุขอำเภอกระทุ่มแบน ผู้แทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 5 ราชบุรี และผู้มีเกียรติทั้งจากทางเทศบาลนครอ้อมน้อย และหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข ที่เข้าร่วมในพิธีจำนวนมาก

 


 

นายบุญชู นิลถนอม นายกเทศมนตรีนครอ้อมน้อย ในฐานะผู้ริเริ่มและจัดตั้งสถานชีวาภิบาลเทศบาลนครอ้อมน้อย กล่าวว่า สำหรับสถานชีวาภิบาลในชุมชนนี้ ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ติดบ้าน ติดเตียง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วย ที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง และมีข้อจำกัดในการดูแลตนเอง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดจนตอบสนองความต้องการครั้งสุดท้ายของผู้ป่วยและครอบครัว,เพื่อให้การดูแลชีวิตผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง โดยมีสหวิชาชีพเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัย การให้การดูแลแบบต่อเนื่องไร้รอยต่อ เน้นการทำงานแบบองค์รวมครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย ด้านจิตใจและอารมณ์ ด้านสังคม และด้านจิตวิญญาณ ตลอดจนยังเพื่อเป็นศูนย์สถานชีวาภิบาลในชุมชน ต้นแบบนำร่องของจังหวัดสมุทรสาคร และของเขตสุขภาพที่ 5 ราชบุรี อีกด้วย

 


ด้านนายแพทย์สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ก็กล่าวด้วยว่า สำหรับในปีงบประมาณ 2567 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายการดำเนินงานด้านการยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นโครงการ  30 บาท พลัส เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชานในทุกมิติ ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค รวมถึงการดูแลรักษา ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพร่างกายเพื่อเป้าหมายที่ว่า “ประชาชนคนไทยสุขภาพดี ประเทศไทยสุขภาพดี” ดังนั้นการจัดตั้งสถานชีวาภิบาล จึงเป็นหนึ่งในนโยบายที่มุ่งเน้นเพื่อการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมถึงผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้าน ติดเตียง ให้ได้รับการดูแลอย่างเป็นองค์รวม ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย, ด้านจิตใจและอารมณ์, ด้านสังคมและด้านจิตวิญญาณ อย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลสู่บ้าน สู่ชุมชน โดยไม่ถูกทอดทิ้งไว้เพียงลำพัง ขณะที่ลูกหลานสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้ตามปกติ อันเป็นการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งสถานชีวาภิบาลในชุมชน เทศบาลนครอ้อมน้อยแห่งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงติดบ้าน ติดเตียง ซึ่งเป็นการ “สร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตรองรับสังคมสูงวัย” อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดูแล ผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยใช้พื้นฐานจากการดูแลประคับประคองที่จะช่วยลดความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั่นเอง

 

ทั้งนี้หลังจากที่ทำพิธีเปิดสถานชีวาภิบาลเทศบาลนครอ้อมน้อย ชุมชนต้นแบบนำร่องแห่งแรกในจังหวัดสมุทรสาคร และ เขตสุขภาพที่ 5 ราชบุรี พร้อมกับเยี่ยมชมการให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสถานชีวาภิบาลในชุมชนร่วมกันอีกด้วย   

 

หน้าแรก » ภูมิภาค