วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 07:19 น.

กิจกรรม

“ดร.วันดี” โชว์วิสัยทัศน์เส้นทางสู่ความสำเร็จอาณาจักรโซลาร์ฟาร์มอันยิ่งใหญ่

วันอาทิตย์ ที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2562, 15.02 น.

ซีอีโอ SPCG ขึ้นเวที “The Future Energy Show Thailand 2019” โชว์วิสัยทัศน์ผู้คิดค้น Business Model สร้างอาณาจักรโซลาร์ฟาร์มประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ด้าน IFC แนะประชาคมอาเซียนให้ความสำคัญการจัดเก็บพลังงานอย่างยั่งยืน

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ร่วมขึ้นอภิปรายในงาน The Future Energy Show Thailand 2019 ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้หัวข้ออภิปรายเรื่อง “Financing renewable energy in Thailand & Asia” โดยมี Mr. Tristan Knowles, Private Sector Climate Finance Specialist, Asian Development Bank เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่าเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2553 รัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน รวมทั้งเปิดโอกาสให้เอกชนได้เข้ามาลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทุกประเภท ตนจึงได้คิดค้น Business Model ขึ้น โดยในช่วงเริ่มต้นของการบุกเบิกและการพัฒนาธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เคยประสบปัญหาในเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและสถาบันการเงิน เนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่เคยมีผู้ใดเคยทำมาก่อน ทำให้สถาบันการเงินไม่มีข้อมูลด้านความเสี่ยง จนกระทั่ง ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นสถาบันการเงินที่ช่วยสนับสนุนทางด้านการเงินอัตราหนี้สินต่อทุนที่ 60:40 โดยเริ่มการลงทุนจากโครงการโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกที่โคราช คือ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ (โคราช 1) จำกัด (KR1) เริ่มผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และส่งเข้าระบบจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2553

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้ใช้ระยะเวลาในประเมิน 6 เดือนก่อนเริ่มพัฒนาโครงการที่ 2 อย่างไรก็ตาม ภายใน 3 เดือนแรก การผลิตไฟฟ้าดีกว่าเป้าหมายกว่า 30 % ทำให้ธนาคารเห็นโอกาสที่จะช่วยบริษัทพัฒนาโครงการที่เหลือที่ต้องใช้เงินลงทุนกว่า 24,000 ล้านบาท จนท้ายที่สุด บริษัทได้รับการสนับสนุนจาก (International Finance Corporation: IFC) เป็นสถาบันการเงินในเครือของธนาคารโลก (World Bank Group) มาร่วมทุนในโครงการพัฒนาโซลาร์ฟาร์มที่เหลือและร่วมให้การสนับสนุนด้านการเงิน รวมทั้งนำเงินกู้ Climate Technology Fund มาร่วมให้กู้กับสถาบันการเงินอื่นๆอีก 6 แห่ง มีธนาคารกสิกรไทยเป็นคนช่วยจัดการ ทำให้สามารถพัฒนาโครงการต่อเนื่องได้ครบ 36 โครงการ จนประสบความสำเร็จในปี 2557

“การจัดหาเงินทุน หรือการให้การสนับสนุนด้านการเงิน เป็นส่วนสำคัญของการประสบความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่แค่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แต่รวมไปถึงธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทุกประเภท” ดร.วันดีกล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน B.Grimm กล่าวว่า B.Grimm มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจที่เป็นธุรกิจพลังงานสีเขียวและพลังงานสะอาดเสมอ โดยได้ตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตที่ 5,000 เมกะวัตต์ ภายใน 2 ปีนับจากนี้เป็นต้นไป ซึ่งตอนนี้ B. Grimm ได้ขยายการลงไปสู่ประเทศใกล้เคียงที่รัฐบาลมีนโยบายที่สนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจพลังงานหมุนเวียน อย่างเช่นประเทศเวียดนามเป็นต้น ซึ่งการจัดหาเงินทุนและนโยบายภาครัฐของแต่ละประเทศเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาธุรกิจเช่นกัน โดยเฉพาะการสนับสนุนเงินทุนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเขียวหรือธุรกิจด้าน ESG

Mr.Michael Boardman, Group CFO, Sindicatum Sustainable Resources กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลายๆสายการบินพูดถึงเรื่องคาร์บอนเครดิต แสดงให้เห็นว่าผู้คนให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและสภาพภูมิอากาศมากแค่ไหน แต่ปัจจุบัน ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bonds) หรือ ตราสารหนี้ที่ออกเพื่อระดมทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คิดเป็นเพียง 1% ของตลาดโลกปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งในอนาคตยังต้องการระบบหรือกระบวนการบางอย่างที่จะเข้ามาช่วยเหลือในส่วนดังกล่าว

Mr.Sujay Shah, Managing Director – Investment Banking, Head – Cleantech Coverage, Standard Chartered Bank กล่าวว่า ธนาคารเองกำลังมองหาวิธีที่ในการสนับสนุนด้านการเงินในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน ขนาดเฉลี่ยของโครงการที่เราเคยดูแลมีขนาดประมาณ 20-25 เมกะวัตต์ ซึ่งเรามองว่าความยากง่ายของการหาเงินทุนขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการ อีกทั้งเศรษฐกิจต้องมีความโปร่งใส และให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการต่อต้านการทุจริต

Mr.Vikram Kumar, New Business Manager, Infrastructure & Natural Resources – Asia Pacific, International Finance Corporation – World Bank กล่าวว่า หากลองมองเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดว่ามีความท้าทายไม่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับทวีปอื่นๆในโลก ซึ่งที่ผ่านมา IFC ได้สนับสนุน ไทย พม่า ลาว กัมพูชาและประเทศอื่นๆ ซึ่งมีพลังงานแสงอาทิตย์มากมายในประเทศเหล่านี้เช่นกัน โดยเรามองว่านโยบายจากรัฐบาลก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เราเผชิญ สิ่งหนึ่งที่ IFC อยากให้ความสำคัญในช่วง 5 ปีข้างหน้า คือ การจัดเก็บพลังงาน หรือ “Energy Storage” ในประชาคมอาเซียน

Mr. Jerome Ferreria, Senior Investment Specialist, Credit Guarantee and Investment Facility กล่าวว่า CGIF รับประกันความสำเร็จของงานก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และหลังการดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) หากขั้นตอนการก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ CGIF จะคืนเงินให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ทั้งหมดที่เป็นเจ้าของ บริษัท โครงการ นักลงทุน จึงมั่นใจได้ว่าความเสี่ยงด้านการก่อสร้างนั้นได้รับการประเมินและครอบคลุมอย่างดี ซึ่ง CGIF มีความพร้อมเป็นอย่างมากในส่วนของการเป็นแหล่งเงินทุนใหม่

หน้าแรก » กิจกรรม