วันพฤหัสบดี ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 04:47 น.

กทม-สาธารณสุข

กทม.พร้อมรับมือฝนกระหน่ำ

วันพฤหัสบดี ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2562, 11.11 น.

กทม.พร้อมรับมือฝนกระหน่ำ

 

เข้าสู่กลางปีของประเทศไทย เป็นสัญญาณบอกให้คนไทยได้รู้ว่าฤดูฝนกำลังมาเยือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเพาะปลูกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2562 และคาดว่าปีนี้ฝนจะน้อยกว่าปกติประมาณ 5-10% แต่จะมีฝนตกชุกและหนาแน่นในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.

 

 

ฤดูฝนสำหรับประชากรในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยเต็มใจรับน้ำจากฟ้าเท่าใดนัก อาจเป็นเพราะเวลาที่ฝนตกทีไร ไม่ว่าจะมากหรือน้อยต่างนำมาซึ่งปัญหาให้กับคนกรุงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการจราจรที่ติดขัดแสนสาหัสและน้ำท่วมน้ำขังตามท้องถนน ที่สำคัญทุกวันนี้เสียงของคนเมืองไม่ได้เป็นเสียงเล็กๆ อีกต่อไป เพราะมีสื่อสังคมออนไลน์ที่สามารถสะท้อนปัญหามาที่หน่วยงานภาครัฐโดยตรง

 

กทม.ในฐานะหน่วยงานหลักรับรู้ถึงปัญหาความอึดอัด คับข้องใจของคนเมืองมาตลอด มาในปีนี้จึงได้วางแผนรับมือล่วงหน้า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

เพิ่มพลังสถานีสูบน้ำ

 

โครงการหลักที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม คือโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำในพื้นที่ กทม. ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงบ่อสูบน้ำถนนเพชรบุรี และโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe Jacking) บริเวณถนนศรีอยุธยาและถนนพระราม 6 เขตราชเทวี

 

 

โดยทั้งสองโครงการเป็นไปตามแผนพัฒนา กทม. ภายใต้ยุทธศาสตร์ “มหานคร ปลอดภัย” ที่มีเป้าหมายให้กรุงเทพมหานครปลอดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ วางมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ปลอดมลพิษ มีระบบการจัดการน้ำเสียและระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ

 

เดิมที่สถานีสูบน้ำดังกล่าวมีสภาพชำรุดและกำลังในการสูบน้ำยังไม่เพียงพอกับปริมาณน้ำ ด้วยเหตุนี้สำนักการระบายน้ำจึงดำเนินโครงการปรับปรุงเพิ่มกำลังสูบจากเดิม 6 ลบ.ม./วินาที เป็นกำลังสูบ 8 ลบ.ม./วินาที พร้อมทั้งก่อสร้างบ่อสูบน้ำ จำนวน 1 บ่อ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า กำลังสูบ 1 ลบ.ม./ วินาที จำนวน 2 เครื่อง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้ากำลังสูบ 2 ลบ.ม./ วินาที จำนวน 3 เครื่อง

 

ผู้บริหาร กทม. คาดว่าเมื่อโครงการปรับปรุงบ่อสูบน้ำเสร็จสมบูรณ์ในช่วงเดือนมิ.ย. จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในหลายพื้นที่สำคัญของ กทม. ในบริเวณโดยรอบและใกล้เคียงกับสถานีสูบน้ำได้เป็นอย่างดี

 

ขณะเดียวกันในพื้นที่อื่นๆ ที่มีความอ่อนไหวต่อการรับมือกับปริมาณน้ำฝนนั้น กทม.ก็เร่งดำเนินการแก้ไขเช่นกัน โดยได้ก่อสร้างท่อระบายน้ำใต้ดินในลักษณะไม่ต้องเปิดผิวจราจร หรือ Pipe Jacking ย่านทรงสวัสดิ์ เยาวราช และเจริญกรุง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณดังกล่าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้น และลดปัญหาจุดอ่อนน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งใน 2 จุด ได้แก่ บริเวณ ถนนเจริญกรุง จากถนนแปลงนามถึงแยกหมอมี เขตสัมพันธวงศ์ และ ถนนเยาวราชฝั่งเหนือ จากถนนทรงสวัสดิ์ถึงถนนราชวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์

 

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงบริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์ และถนนสวนพลู กทม. กำลังเร่งก่อสร้างท่อระบายน้ำใต้ดิน หรือ Pipe Jacking ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อช่วยดึงน้ำลงคลองช่องนนทรี เพิ่มประสิทธิภาพ การระบายน้ำในย่านชุมชนเมืองที่มีความหนาแน่นสูงและน้ำท่วมขังเป็นประจำ

 

ปรับแต่งถนนวิภาวดีรับมือฝน

 

ถนนวิภาวดีรังสิต เป็นเส้นเลือดใหญ่ของการจราจรอีกเส้นหนึ่งที่ทุกครั้งเวลาฝนตกไม่ว่าจะมีปริมาณน้ำระดับใด ต่างสร้างความปวดหัวให้กับประชาชนเช่นกัน จนบางครั้งต้องใช้เวลาอยู่บนถนนนานกว่าเวลาที่ใช้ไปกับครอบครัวในแต่ละวัน

 

เมื่อเวลาเป็นของมีค่า กทม. จึงไม่อาจปล่อยผ่านไปได้ และลงมือเข้ามาจัดการปัญหาอย่างเต็มศักยภาพด้วยโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำตามแนวถนน วิภาวดีรังสิต จำนวน 15 สถานี เพิ่มอัตรากำลังสูบน้ำเป็น 81 ลบ.ม./วินาที

 

สถานีสูบน้ำที่ได้ดำเนินการปรับปรุงแล้ว 4 สถานี ได้แก่ สถานีสูบน้ำคลองบางซื่อขาออกฝั่งใต้ ซึ่งปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นอาคารรับน้ำอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ สถานีสูบน้ำ หลังโรงเรียนหอวัง สถานีสูบน้ำคลองบางเขนขาเข้าฝั่งเหนือ และ สถานีสูบน้ำคลองบางเขนขาเข้าฝั่งใต้ ส่วนสถานีสูบน้ำที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง 3 สถานี ได้แก่ สถานีสูบน้ำคลอง บางซื่อขาออกฝั่งเหนือ สถานีสูบน้ำคลองบางซื่อขาเข้าฝั่งเหนือ คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน มิ.ย. และสถานีสูบน้ำคลองวัด หลักสีขาเข้าคาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน ส.ค.นี้

 

การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงที่คู่ขนานไปกับถนนวิภาวดีรังสิต นับเป็นอีกสาเหตุที่มีผลต่อการระบายน้ำไม่แพ้กัน สำนักการระบายน้ำพร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทางหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้รับจ้างได้หารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และมีข้อสรุปร่วมกัน ว่าระยะเร่งด่วนจะดำเนินการขุดลอกคูน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตบริเวณจุดก่อสร้างทางขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้า เพื่อให้คูน้ำมีระดับความลึกสามารถรองรับน้ำได้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม

 

ส่วนระยะยาวได้ดำเนินการวางท่อระบายน้ำชนิดสี่เหลี่ยม ขนาด 2.10x2.10 ม. บริเวณไหล่ทางข้างเสาตอม่อทางขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้า พร้อมก่อสร้างกำแพงดินด้านชิดเขตทาง เพื่อเป็นการบังคับทิศทางการไหลของน้ำให้ไหลไปตามท่อระบายน้ำที่เชื่อมต่อกัน

 

ทั้งนี้ หากการดำเนินการแก้ไขโดยวิธีดังกล่าวยังไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จะพิจารณาหาแนวทางในการก่อสร้างบ่อสูบและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพในการระบายน้ำบริเวณคูน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต

 

ฝั่งธนบุรีไม่ระทมอีกต่อไป

 

ขณะที่พื้นที่ฝั่งธนบุรี กทม. ก็เล็งเห็นถึงปัญหาไม่ต่างกัน เนื่องจากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าในหลายจุด ทำให้ทุกครั้งที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจและตกลงอย่างไม่ปรานี เกิดปัญหาน้ำท่วมขังหลายจุดโดยเฉพาะถนนเพชรเกษม

 

 

สำนักการระบายน้ำดำเนินการปรับปรุงเพิ่มขีดความสามารถระบบระบายน้ำบริเวณถนนเพชรเกษม แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การปรับปรุงบ่อสูบน้ำเดิมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม สำหรับการปรับปรุงบ่อสูบน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องสูบน้ำ บริเวณริมถนนเพชรเกษม ช่วงคลองยายเทียบถึงคลองยายเพียรหลายจุดสำคัญ อาทิ บ่อสูบน้ำข้างเดอะมอลล์บางแค บ่อสูบน้ำคลองยายเทียบขาเข้า บ่อสูบน้ำคลองราชมนตรีขาเข้า บ่อสูบน้ำคลองยายเพียรขาเข้า บ่อสูบน้ำคลองบางหว้า

 

การปรับปรุงบ่อสูบน้ำบริเวณดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะช่วยระบายน้ำบริเวณถนนเพชรเกษม ระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งในอนาคตกรุงเทพมหานครมีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนา ซึ่งจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งธนบุรีต่อไป

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าฝั่งธนบุรีเต็มไปด้วยการก่อสร้างระบบขนส่งคมนาคมขนาดใหญ่ ทางคณะผู้บริหาร กทม. จึงได้ลงพื้นที่ตรวจจุดก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่ส่งผลกระทบก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณถนนเพชรเกษม ประกอบด้วย สถานีบางไผ่ สถานีบางหว้า หน้าตลาดบางแคและอาคารจอดรถ

 

ผลปรากฏว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าดังกล่าวใกล้จะแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการเก็บรายละเอียดของงาน เพื่อเตรียมส่งมอบพื้นที่คืนให้กับกรุงเทพมหานคร ในระหว่างการก่อสร้างผู้รับจ้างได้ยกเลิกบ่อพัก และท่อระบายน้ำบางส่วน เพื่อดำเนินการก่อสร้างทางขึ้นลงสถานี จาก การตรวจสอบพบว่าบริเวณถนนเพชรเกษมในพื้นที่เขตภาษีเจริญได้ยกเลิกและก่อสร้างบ่อพักและท่อระบายน้ำขึ้นใหม่ทั้งหมด 20 บ่อ

 

 

โดยบริษัทที่ทำการก่อสร้างยืนยันกับคณะผู้บริหาร กทม. ว่าจะเร่งดำเนินการก่อสร้างบ่อพักพร้อมเชื่อมต่อท่อระบายน้ำให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือน มิ.ย. และผู้รับจ้างจะต้องดำเนินการลอกท่อระบายน้ำในพื้นที่เขตที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ และถนนเพชรเกษมตลอดทั้งสองฝั่งระยะทาง รวม 20 กิโลเมตรด้วย เพื่อป้องกันปัญหาน้ำ และเพื่อเป็นการตรวจสอบให้เกิดความรอบคอบ สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักงานเขตในพื้นที่ รฟม. และผู้รับจ้าง จะร่วมกันตรวจสอบระบบ การระบายน้ำร่วมกันต่อไป

 

ทั้งหมดนี้ กทม.คาดว่าจะช่วยรับมือกับปริมาณน้ำฝนได้เต็มประสิทธิภาพเพื่อให้กทม. เป็นเมืองน่าอยู่ที่ยั่งยืน ประชาชนใช้ชีวิตในฤดูฝนอย่างมีความสุขและรอยยิ้มมากที่สุด