วันจันทร์ ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:02 น.

กทม-สาธารณสุข

สสส.ผนึกเครือข่ายชวนชาวนครนายกเลิกบุหรี่จริงจัง

วันศุกร์ ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2562, 18.43 น.

สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายจังหวัดนครนายก ขับเคลื่อนนโยบาย ผ่านเครือข่ายภาคประชาชน และ อสม.เพื่อชวนช่วยเลิกบุหรี่

การจะเลิกบุหรี่ได้ นอกจากจะต้องมีพลังใจที่แข็งแกร่งแล้ว ยังต้องมีนวัตกรรมหรือตัวช่วยใหม่ๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันให้ประชาชนเลิกบุหรี่ได้อย่างจริงจังและง่ายมากขึ้น ซึ่งนอกจากนวัตกรรมแล้ว การทำงานอย่างเข้มข้นและการวางแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจน ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เลิกบุหรี่ได้เช่นกัน

จากข้อมูลในระบบ 43 แฟ้มมาตรฐานด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ HDC ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครนายก ประจำปีงบประมาณ 2562 พบว่า จังหวัดนครนายก มีจำนวนประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป ที่ผู้สูบบุหรี่ 17,785 คน จากประชากรจำนวนทั้งหมด 133,576 คนคิดเป็นอัตราเฉลี่ยที่ร้อยละ 13.31 ซึ่งในปี 2562 มีผู้เข้าร่วมโครงการเลิกบุหรี่สะสม 3 ปี เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 131.08 โดยเฉพาะในปี 2561 เข้าสู่ปี 2562 มีผู้เข้าร่วมโครงการในอัตราที่สูงมากจาก 34 คน เป็น 3,772 คน (ข้อมูลเมื่อวันที่21 ตุลาคม 2562) แสดงให้เห็นว่าประชาชนที่สูบบุหรี่ เห็นถึงความสำคัญของการเลิกบุหรี่เป็นอย่างมาก และเป็นจุดที่สะท้อนว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครนายกดำเนินการเรื่องให้ประชาชนเลิกบุหรี่ได้จริงจังมากขึ้น

นางอังศุมาลิน มั่งคั่ง หัวหน้ากลุ่มควบคุมโรคไม่ติดต่อ สุขภาพจิต ยาเสพติด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครนายก เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนงานให้ประชาชนเลิกบุหรี่ว่า จังหวัดนครนายกมีโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน เหมือนกับทุกจังหวัดแต่มีผู้มาเข้าร่วมไม่มากประมาณร้อยละ 20 เท่านั้นหลังจากนั้นจังหวัดได้รับภารกิจพิเศษจากผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และได้รับความร่วมมือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. ในการเป็นแกนนำขับเคลื่อนโครงการให้ประชาชนหันมาเลิกบุหรี่กันมากขึ้น จึงได้ปรับเปลี่ยนการทำงานอย่างเข้มข้น ผ่าน 3 ระยะได้แก่ "การชักชวน" ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงมีนาคม ที่ต้องเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการมากที่สุด ระยะที่สองในช่วงมีนาคมถึงกรกฎาคมคือ "บำบัด" ซึ่งจะขับเคลื่อนงานให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการเลิกบุหรี่ ส่วนในระยะที่สามตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงธันวาคม คือ "ติดตาม" ตามผลการดำเนินงาน

ทั้งนี้ จากผลการปรับเปลี่ยนการทำงานอย่างเข้มข้นพบว่า ในระยะแรกที่เป็นการชักชวน มีผู้เข้าร่วมโครงการสูงขึ้น ร้อยละ 113 โดยมีเทคนิคคือใช้เทคโนโลยีด้านข้อมูลเข้ามาช่วย โดยนำข้อมูลผู้ป่วยที่น่าจะเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง ที่มีอยู่ในสถานบริการออกมาให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่งและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทุกคน นำข้อมูลที่ได้ไปชักชวนคนที่สูบบุหรี่ให้เลิกสูบ จากนั้นให้แต่ละสถานบริการได้บำบัดรักษา ซึ่งจุดนี้ถือเป็นการสร้างความชัดเจนด้านข้อมูลให้อาสาสมัครสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยชักชวนให้ประชาชนมาเข้าร่วมโครงการเลิกบุหรี่ได้เป็นจำนวนมาก

นางอังศุมาลิน กล่าวด้วยว่า ปัจจัยการดำเนินงานของจังหวัดที่ประสบความสำเร็จคือ นโยบายผู้บริหารที่เห็นความสำคัญของการทำงาน และทีมงานที่บูรณาการการทำงานร่วมกันได้ ทั้งงานบริการ งานเทคโนโลยีดิจิทัล สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้มีความชัดเจนและสามารถทราบได้ว่า จะต้องดำเนินงานในส่วนไหนบ้าง นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องค์รักษ์ ที่เข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนโครงการป้องกันพิษภัยจากบุหรี่ในวัยรุ่นอีกด้วย

“การทำงานควบคุมยาสูบ ถึงแม้จะเหมือนเป็นภารกิจถมทะเล ที่ดูแล้วยาก แต่หากทำงานอย่างต่อเนื่องก็สามารถทำให้ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่มีที่ยืนในสังคมได้เช่นกัน” นางอังศุมาลิน กล่าว

ส่วนในพื้นที่อำเภอบ้านนา ข้อมูลจาก HDC พบว่า มีประชาชนเข้าร่วมโครงการเลิกบุหรี่สูงที่สุดในจังหวัด ที่ร้อยละ 147.02 ซึ่งเคล็ดลับการทำงานนี้ นายสมทรง ย้อยสนิท เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชำนาญงาน ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก กล่าวว่า สำนักงานได้มีบทบาทสำคัญในการนำนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุข และแนวทางการดำเนินงานของ สสส. ลงไปสู่ รพ.สต. 14 แห่งที่อยู่ในเครือข่าย ด้วยการให้ อสม. 1 คน ชักชวนให้ประชาชน เลิกบุหรี่ 3 คน ซึ่งอสม.ในอำเภอมีอยู่ประมาณ 1,134 คน แต่สามารถชวนให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการได้มากกว่า 3,300 คน ซึ่งถือว่าเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยได้รับการสนับสนุนจากสาธารณสุขอำเภอ จัดทีมงานให้ความรู้แก่ประชาชนในแต่ละตำบลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีผู้อยากเลิกบุหรี่แล้ว 56 คน และกำลังติดตามคนอื่นๆที่เหลือย่างต่อเนื่อง เพื่อให้จำนวนผู้เลิกบุหรี่มีจำนวนที่มากขึ้นไปด้วย

นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ อสม. ไปอบรมพัฒนาความรู้ด้านการเลิกบุหรี่ เพื่อให้ส่งต่อความรู้ไปยังประชาชนได้มากขึ้น พร้อมกับสร้างแรงจูงใจไปพร้อมกันหาก รพ.สต. แห่งใดสามารถทำยอดผู้เลิกบุหรี่ได้มาก ก็จะมีการตอบแทนเป็นรางวัลให้ ทั้ง รพ.สต.และอสม.ในพื้นที่ด้วย

ด้านนายธงชัย อิ่มเอิบ อสม.หมู่ 11 ตำบลบ้านนา อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก กล่าวถึงการดำเนินงานให้ประชาชนเลิกบุหรี่ว่า ส่วนตัวเคยเป็นผู้ที่เคยสูบบุหรี่มาก่อน และสูบเป็นเวลานานตั้งแต่สมัยอายุ 15 ปี จนขณะนี้ก็สามารถเลิกมาได้ถึง 5 ปีแล้ว ด้วยการตรวจสุขภาพ และการให้ความรู้จาก อสม. ท่านอื่น ทำให้มีแรงและกำลังมากขึ้นในการชักชวนประชาชนหันมาเลิกบุหรี่ โดยตนเองเป็นต้นแบบอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมและปฏิบัติตาม ซึ่งขณะนี้ตนเองเป็น อสม.ที่ชักชวนประชาชนให้เลิกบุหรี่อยู่ 3 คน โดยยังคอยให้คำแนะนำ ชักชวนให้เลิก กระตุ้นด้วยการพูดคุยให้เลิกบุหรี่อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา

ส่วนนายบุญยิ่ง ปิกตะหลก อสม. หมู่ 11 ตำบลบ้านนา กล่าวถึงการชวน ช่วย เลิกบุหรี่ ว่า จากการลงพื้นที่พบว่ายังมีวัยรุ่นสูบบุหรี่อยู่ จึงต้องให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง และปลูกฝังให้เด็กๆ ตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่มากขึ้น ด้วยการใช้ศิลปะเข้ามาช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เด็กอายุ 5-6 ปี เข้ามาวาดภาพให้เห็นถึงพิษร้ายของบุหรี่ ถือเป็นการสื่อสารอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เกิดผล และให้เห็นความชัดเจนได้มากที่สุด เพราะวาดใส่ถุงผ้าที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ ที่สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้แก่วัยรุ่น พร้อมขับเคลื่อนงานป้องกันบุหรี่ในนักสูบหน้าใหม่อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข