วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 23:22 น.

กทม-สาธารณสุข

เครือข่ายลดอุบัติเหตุฯกระตุ้นสังคมร่วมมือลดอุบัติเหตุสงกรานต์

วันจันทร์ ที่ 05 เมษายน พ.ศ. 2564, 17.07 น.

เครือข่ายลดอุบัติเหตุ-สสส.เตือนสงกรานต์“ดื่มไม่ขับ-ลดความเร็ว- สวมหน้ากากอนามัย ไม่ไปพื้นที่เสี่ยง” เผย 3 ปีย้อนหลังมีผู้เสียชีวิต 971 ราย พร้อมนำทีมรณรงค์สร้างกระแสขับขี่ปลอดภัยลดอุบัติเหตุทางถนน

วันที่ 5 เม.ย.64 นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) เปิดเผยว่า ปีนี้ สสส.และเครือข่ายได้รณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ สงกรานต์ดื่มไม่ขับ คิดถึง...กลับให้ถึง อย่างปลอดภัย” เน้น “ดื่มไม่ขับ สวมหมวกกันน็อก และขับไม่เกิน 80” และจากการที่รัฐบาลประกาศ งดเล่นน้ำ งดประแป้ง งดปาร์ตี้โฟม งดคอนเสิร์ต คาดว่าสงกรานต์ปีนี้อุบัติเหตุทางถนนน่าจะลดลงกว่าปีที่ผ่านมา อันเนื่องจากมีการงดกิจกรรมบันเทิงและส่วนหนึ่งงดการเดินทาง แต่ก็ยังมีผู้ที่เดินทางกลับบ้านโดยรถส่วนตัวและไม่เคยขับรถทางไกล ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ซึ่งการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา สาเหตุจากขับเร็ว ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด และวูบหลับใน  ทั้งนี้ ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน(ศปถ.) ระบุ 3 ปีย้อนหลังมีผู้เสียชีวิตรวม 971 ราย โดยในปี 2561 เกิดเหตุ 3,724 ครั้ง บาดเจ็บ 3,897 ราย เสียชีวิต 418 ราย ปี 2562 เกิดเหตุ 3,338 ครั้ง บาดเจ็บ 3,442 ราย เสียชีวิต 386 ราย  ส่วนในปี 2563 เกิดเหตุ 1,307 ครั้ง บาดเจ็บ 1,260 ราย เสียชีวิต 167 ราย พฤติกรรมเสี่ยงสำคัญยังคงเป็นไม่สวมหมวกนิรภัยถึงร้อยละ 59 มอเตอร์ไซต์ส่วนบุคคลเกิดอุบัติเหตุสูงสุดร้อยละ 79.39 และกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงถึงร้อยะ 17.80  

นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ จะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการขับรถลดลง  เช่น มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โอกาสเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุเป็น 2 เท่า และหากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่า นอกจากนี้ตามกฎหมาย พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ได้ระบุห้ามมิให้ขับขี่รถในขณะเมาสุราหรือของมึนเมา และได้มีการเพิ่มโทษหนักขึ้น กับ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 กำหนดโทษของการเมาแล้วขับ ได้แก่ 1.เมาแล้วขับ เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบขับขี่ 2.เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส มีโทษจำคุก 2-6 ปี ปรับตั้งแต่ 40,000-120,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพักใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบขับขี่  และ3.เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนใบขับขี่

ดังนั้นสงกรานต์ปีนี้ ขอให้ทุกท่านเดินทางปลอดภัย เริ่มด้วยการเตรียมความพร้อมรถ  ตรวจเช็คสภาพรถ  พักผ่อนให้เพียงพอ  ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถ ลดความเร็ว สวมหน้ากากอนามัย ไม่ไปพื้นที่เสี่ยง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบชีวิตวิถีใหม่ เพราะอุบัติเหตุและความสูญเสียไม่เลือกเวลา การทำ“ชีวิตใหม่ วิถีใหม่ ดื่มไม่ขับ” จึงเป็นสิ่งที่จะทำให้ชีวิตของทุกคนปลอดภัย

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข