วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 21:35 น.

กทม-สาธารณสุข

ผุด “เว็บไซต์วัคซีนใจ" เยียวยาจิตใจภาคท่องเที่ยว 4 ล้านคนตกงาน

วันพฤหัสบดี ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564, 19.42 น.

เผยผลสำรวจโควิด-19 ทำคนภาคท่องเที่ยวตกงานกว่า 4 ล้านคน เครียดจัดทำยอดฆ่าตัวตาย พุ่ง นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 82.5% รายได้ลด 1.34 ล้านล้านบาท สสส.-มศว.-กรมสุขภาพจิต ห่วงคนทำธุรกิจท่องเที่ยว กาย-ใจ ทรุดหนัก แนะฟื้นฟูสุขภาพจิตผ่าน "เว็บไซต์วัคซีนใจ" ประเมินตัวเอง-แนะวิธีคลายเครียด-พูดคุยกับนักจิตวิทยา เล็งใช้แอปฯ ปลดล็อกปัญหาสุขภาพจิตผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) และกรมสุขภาพจิต  จัดเสวนาออนไลน์ “ความจำเป็นต่อการสร้างเสริมสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและ SME ด้วยวิธีการ สร้างวัคซีนใจ” พร้อมเปิดตัวนวัตกรรมเครื่องมือดูแลจิตใจ “เว็บไซต์วัคซีนใจ” เครื่องมือประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น เพื่อคัดกรองความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต พร้อมแนวทางดูแลสุขภาพจิต  โดยเฉพาะผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากสถานการณ์โควิด-19 และสำหรับประยุกต์ใช้ในทุกอาชีพต่อไป

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกต้องจำกัดการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคซึ่งสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงโดยตรงกับเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ 100% เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีหนี้สินเพิ่มจากการดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง แรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถูกเลิกจ้าง ทั้งธุรกิจเกี่ยวกับร้านค้า ที่พัก บริการท่องเที่ยว และบริการขนส่ง จากข้อมูลคนว่างงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปี 2563 โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า มีแรงงานว่างงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถึง 25% ของแรงงานว่างงานทั้งหมด หรือกว่า 4 ล้านคน ต้องขาดรายได้ กระทบต่อเศรษฐกิจในครัวเรือน นำไปสู่ความเครียดสะสม เกิดปัญหาสุขภาพจิต เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลเหตุปัจจัยของการฆ่าตัวตายปี 2563 โดยกรมสุขภาพจิต พบว่า ผลกระทบจากภาวะเครียดเรื่องเศรษฐกิจ เป็น 1 ใน 3 เหตุปัจจัยสูงสุดของการฆ่าตัวตาย ปี 2563 ความเครียดจึงถือเป็นเหตุของปัญหาสุขภาพที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

นายชาติวุฒิ กล่าวว่า สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตที่ต้องเร่งยกระดับการสร้างเสริมสุขภาพจิตคนไทยอย่างเร่งด่วน จึงร่วมกับ มศว. และกรมสุขภาพจิต ริเริ่มโครงการพัฒนาสุขภาวะด้านจิตใจในกลุ่มผู้ประกอบการและพนักงานของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว พร้อมพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือเว็บไซต์วัคซีนใจ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากโควิด-19 ฟื้นฟูจิตใจตัวเองด้วยแบบทดสอบง่ายๆ เข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยขั้นตอนมีดังนี้ 1.วัดระดับสภาพจิตใจ 20 ข้อ 2.พัฒนาเป้าหมายและส่งต่อแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น และ 3.ประเมินตนเอง ค้นหาข้อดี และเห็นความสำคัญของคนรอบข้าง โดยจะมีการแจ้งเตือนให้ผู้เข้าร่วมทำแบบทดสอบทุกๆ 30 วัน

ผศ.ดร.ศรัณย์ พิมพ์ทอง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการจัดการความรู้ สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มศว. และผู้จัดการโครงการพัฒนาสุขภาวะด้านจิตใจในกลุ่มผู้ประกอบการและพนักงานของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีมากว่า 2 ปี ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยอย่างหนัก โดยในปี 2563 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยลดลงถึง 82.5% เมื่อเทียบกับปี 2562 กระทบถึงรายได้ที่เกิดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงกว่า 1.34 ล้านล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหดตัวอย่างต่อเนื่องและรุนแรง ที่น่าห่วงคือธุรกิจ SME บางกลุ่มต้องเลิกกิจการ แต่สำหรับกลุ่มที่ยังคงประกอบธุรกิจอยู่ก็ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้ผู้ประกอบการและพนักงานเกิดความเครียดสะสม หมดกำลังใจ ท้อแท้ ซึ่งกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลสุขภาพด้านจิตใจอย่างเร่งด่วนและทั่วถึง โดยภายในปีนี้ตั้งเป้าหมายสานพลังร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เพื่อขยายพื้นที่พัฒนาสุขภาพจิตผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศ

--

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข