วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 18:18 น.

กทม-สาธารณสุข

สสส. ดึง อสต.จัด 3 มาตรการดูแลชุมชนแรงงานข้ามชาติสู้ภัยโควิด

วันอาทิตย์ ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2564, 14.51 น.

อสต.ลุย 3 มาตรการ ตั้งจุดคัดกรอง-ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก-ดูแลผู้ป่วยในระบบ Home-Community Isolation มุ่งช่วยชุมชนแรงงานข้ามชาติ ‘เทียนทะเล 26’ มีผู้ป่วยโควิดเป็นศูนย์ พร้อมมอบชุดยังชีพ “Home Isolation เพื่อนกันวันติดโควิด” ไว้รับมือวิกฤต เล็งกระจายสู่กลุ่มเปราะบาง 3,700 ชุดทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2564 ที่ชุมชนแรงงานข้ามชาติเทียนทะเล ซอย 26 เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย นางสาวภาสวรรณ สังฆสุบรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์กิจการสร้างสุข สสส. ลงพื้นที่มอบชุด Home Isolation เพื่อนกันวันติดโควิด 850 ชุด ให้แก่ตัวแทนอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.) เพื่อนำไปส่งต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ขาดโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันจำเป็นในช่วงสถานการณ์โควิด-19

นางภรณี กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติในประเทศไทย จัดอยู่ในกลุ่มประชากรกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาวะเทียบเท่ากับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการสำรวจของ สสส. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า สถานการณ์ทางสุขภาพของแรงงานข้ามชาติที่วัดจากเครื่องมือวัดระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ 3อ2ส. พบว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพอยู่ในระดับไม่ดี ร้อยละ 92.71 และเข้าไม่ถึงการรักษาในโรงพยาบาล สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงสานพลังกับ มยช. มูลนิธิศุภนิมิตฯ และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมกว่า 20 องค์กร พัฒนากลไกระบบบริการสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามในสถานประกอบการกว่า 170 แห่ง และชุมชนแรงงานข้ามชาติใน 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร ราชบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง กาญจนบุรี ตาก ระนอง ตราด ชุมพร และเชียงราย มุ่งเป้าให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและเท่าเทียม

นางภรณี กล่าวต่อว่า สสส. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ริเริ่มพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามในชุมชน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2563 สำหรับชุมชนเทียนทะเล ซอย 26 เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ มีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่กว่า 5,000 คน พบผู้ติดเชื้อในเดือนสิงหาคม 686 คน โดยขณะนี้ยังมีผู้ติดเชื้ออีก 41 คน สถานการณ์ที่เกิดขึ้น สสส. จึงร่วมกับ มยช. มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย เข้ามาจัดกระบวนการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องการป้องกันโรคโควิด-19 โดยจัดทำสื่อรณรงค์ให้ความรู้ 10 ภาษา แบ่งเป็นภาษาแรงงานข้ามชาติ 4 ภาษา ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา อังกฤษ และภาษาชาติพันธุ์ 6 ภาษา ได้แก่ ปวาเกอะญอ ม้ง อูรักลาโว้ย ลาหู่ อาข่า ไทใหญ่ พร้อมพัฒนามาตรการการดูแลผู้ป่วย ทั้งในชุมชนและสถานประกอบการ

“มาตรการการดูแลผู้ป่วยในชุมชนและสถานประกอบการ สสส. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย เสริมศักยภาพแกนนำแรงงานข้ามชาติ หรืออาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) 99 คน ให้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องมาตรการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยระบบกักตัวที่บ้านและชุมชน (Home-Community Isolation) พร้อมวิธีการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เชิงรุก เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษาเร็วที่สุด ลดการแพร่ระบาดในชุมชมแรงงานข้ามชาติวงกว้าง โดยชุมชนเทียนทะเล ซอย 26 ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีมาตรการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ โดย สสส. เตรียมถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การปรับใช้เป็นมาตรการเฝ้าระวังในชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ ให้ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติและครอบครัว 30,000 คน” นางภรณีกล่าว

นางสาวภาสวรรณ สังฆสุบรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์กิจการสร้างสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ศูนย์กิจการสร้างสุข หรือ SOOK Enterprise สสส. จัดทำชุด Home Isolation เพื่อนกันวันติดโควิด โดยคัดเลือกอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคที่มีคุณภาพได้มาตรฐานจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ รวม 12 ชิ้น อาทิ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ปรอทวัดไข้ดิจิทัล หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ น้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค ถุงขยะสีแดงสำหรับใส่ขยะติดเชื้อ ทั้งนี้ สสส. เตรียมชุด Home Isolation เพื่อนกันวันติดโควิด 3,700 ชุด ให้ภาคีเครือข่ายนำไปกระจายให้ประชากรกลุ่มเฉพาะที่มีความต้องการ อาทิ กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนพิการ

นายสำเริง สิงห์ผงาด เจ้าหน้าที่ภาคสนาม มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชุมชนเทียนทะเล ซอย 26 เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรม มีแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่ในสถานประกอบการถึง ร้อยละ 90 ที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชนมีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ร่วมกับ สสส. และสถานประกอบการ เร่งเฝ้าระวังอัตราการป่วยและเสียชีวิตเพิ่มในพื้นที่ โดยผลักดันมาตรการดูแลผู้ป่วยในชุมชน ผ่านการทำงานของ อสต. โดยมีแนวทางการทำงาน 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1.จัดตั้งจุดตรวจคัดกรองคนเข้า-ออกพื้นที่ 2.ลงพื้นที่ตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก โดยใช้ชุดตรวจการติดเชื้อโควิด-19 หรือ Antigen test kit (ATK) และ 3.มาตรการ กักตัวผู้ติดเชื้อด้วยระบบ Home-Community Isolation พร้อมติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากสมาชิกในครอบครัว หยุดการแพร่ระบาดในชุมชนวงกว้าง เพื่อช่วยเหลือให้ชุมชนมีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข