วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 03:44 น.

กทม-สาธารณสุข

สสส.ระดมสมองสร้างเกราะป้องกันรถรับส่ง นร.ปลอดภัยรับเปิดเทอม

วันอังคาร ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2564, 15.47 น.

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถอดบทเรียน “อนาคตทิศทางรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย” ชี้เปิดเทอมต้องปลอดภัย ด้าน ขนส่ง-สพฐ.-ปภ. รับข้อเสนอ หนุนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยเป็นตัวชี้วัด-ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมเชิญร่วมพัฒนาแผนแม่บทฉบับใหม่ เน้นย้ำความปลอดภัยช่วงเปิดเทอม

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวภายในงานเสวนาออนไลน์ "บทเรียนและอนาคตทิศทางรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย” ว่า การเกิดอุบัติเหตุของรถรับส่งนักเรียนมักพบได้บ่อยครั้ง ข้อมูลสถิติจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ปี 2563 พบว่า เกิดอุบัติเหตุจากรถรับส่งนักเรียนถึง 15 ครั้ง เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 149 คน นอกจากการเกิดอุบัติเหตุแล้ว ยังพบปัญหารถรับส่งนักเรียนอีกมากมาย เช่น การลืมเด็กไว้บนรถ อุปกรณ์ไม่ตรงตามมาตรฐาน เป็นต้น จึงอยากให้ทุกฝ่ายมองให้เห็นปัญหาและสาเหตุที่แท้จริง พัฒนาให้เกิดนโยบายสาธารณะ และสร้างเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสำคัญ

“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั้ง 6 ภาค ได้เข้ามาทำงานร่วมกับ สสส. อย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาและผลักดันงานรถโดยสารสาธารณะ งานพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และงานรถรับส่งนักเรียนเพื่อให้มีรับส่งนักเรียนปลอดภัย ปัจจุบันน่าจะมีโรงเรียนที่ดำเนินการได้ดีใน 38 โรงเรียน กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งการทำงานต้องอาศัยหลายปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ในสถานการณ์โควิด-19 โรงเรียนในหลายจังหวัดเปิดภาคเรียนได้ตามปกติ จึงต้องดูแลความปลอดภัยในการเดินทางควบคู่กับการเพิ่มมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น สวมหน้ากากอนามัย ไม่รับประทานอาหารบนรถ การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การฉีดพ่นฆ่าเชื้อทำความสะอาดรถ เป็นต้น ซึ่งจะต้องดูแลให้เป็นเรื่องพื้นฐานในทุกวัน” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว

นางสาวพวงทอง ว่องไว ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ทางเครือข่ายเล็งเห็นถึงปัญหาความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน จึงมีข้อเสนอ ดังนี้ 1.กำหนดให้เรื่องความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนเป็นตัวชี้วัดของโรงเรียนทุกแห่ง สร้างแนวทางปฏิบัติและความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐาน 2.ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ให้รถรับส่งนักเรียนทุกคันต้องตรวจสภาพและขออนุญาตขนส่งในทุกภาคการศึกษา 3.ผลักดันเรื่องความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนให้เป็นวาระของระดับประเทศ จังหวัด และอำเภอ ในการช่วยเฝ้าระวังอุบัติเหตุในจุดเสี่ยง พัฒนาบูรณาการการทำงานด้านความปลอดภัยจากการใช้รถรับส่งนักเรียนและผลักดันเป็นวาระระดับชาติ

นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย เป็นทิศทางในอนาคตเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยอยากจะเห็นความชัดเจนใน 3 เรื่อง คือ 1.แก้ไขนิยาม “การศึกษา” ให้รวมถึงการเดินทางมาศึกษาอย่างปลอดภัย และให้กระทรวงมหาดไทยเร่งออกระเบียบข้อบังคับ กำหนดให้การจัดรถรับส่งนักเรียนเป็นภารกิจที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถกระทำได้โดยตรง สนับสนุนให้มีกลไกในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่  2.ระบบข้อมูล เพื่อเฝ้าระวัง และสะท้อนความเสี่ยง โดยเฉพาะพนักงานขับรถและสมรรถนะของรถ  3.เครือข่าย ความร่วมมือ กรมการขนส่งทางบก ผู้ประกอบการ ผู้ปกครอง ครู และนักเรียน รวมถึงด้านโครงสร้างการกำกับดูแลให้ไปถึงระดับอำเภอ ท้องถิ่น ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน เชื่อว่าจะนำไปสู่ความยั่งยืนด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนได้

นายธีร์ ภวังคนันท์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การเปิดเทอมในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ที่จะถึงนี้ สพฐ. คำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กนักเรียน โดยเฉพาะความปลอดภัยทางถนน จึงต้องมีการกำหนดมาตรการให้ชัดเจนและระมัดระวังเรื่องการขนส่งมวลชนเป็นพิเศษ และสำหรับการทำตัวชี้วัดกับโรงเรียน ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายเสนอมา สพฐ. จะรับข้อเสนอไปหารือกับคณะทำงานและดำเนินการต่อไป ซึ่งบางประเด็นทาง สพฐ. มีการทำงานเรื่องนี้อยู่เดิมแล้วแต่จะทำให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มมาตรฐาน แผนของการปฏิบัติการ การเฝ้าระวัง เป็นต้น  เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียนักเรียนจากอุบัติทางถนนขึ้นอีก

ว่าที่ร้อยตรีหญิง นวลพร ไชยเดชกำจร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความปลอดภัย กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกจะบังคับใช้กฎหมายกับรถรับส่งนักเรียนที่ไม่มีใบอนุญาต และเข้มงวดกวดขันในพื้นที่ โดยกรมการขนส่งทางบกจะมีผู้ตรวจการออกตั้งด่านอยู่เป็นประจำ ในช่วงเปิดเทอม โดยจะตั้งด่านในช่วงเช้าและช่วงเย็น เพื่อตรวจจับรถที่ฝ่าฝืนไม่ได้ขึ้นทะเบียน และไม่ผ่านการตรวจอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งหากจะให้เกิดผลสัมฤทธิ์จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย เช่น ผู้ปกครองไม่สนับสนุนการใช้รถที่ไม่ได้มาตรฐานในการรับส่งบุตรหลานของท่าน ทางโรงเรียนอนุญาตให้เฉพาะรถที่ผ่านการตรวจสภาพ หรือได้รับการอนุญาตเป็นภาคการศึกษา จากกรมการขนส่งทางบกก่อน และการสื่อสารทำความเข้าใจเรื่องอุบัติเหตุในพื้นที่ เป็นต้น

นายวิทยา จันทน์เสนะ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ในแผนพัฒนาแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับปัจจุบันที่จะสิ้นสุดภายในปี 2564 ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์โดยมีเรื่องความปลอดภัยของเด็กเยาวชนไว้อยู่แล้ว แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทฉบับที่ 5 ซึ่งจะมีระยะเวลาการทำงานระหว่างปี 2565–2570 โดยมีเป้าหมายผลักดันการขับเคลื่อนเพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งมีประเด็นเรื่องความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนที่มีอยู่ในร่างแผนแม่บทฉบับใหม่นี้ด้วย และกำลังจะมีเวทีของการรับฟังความคิดเห็น จึงอยากเชิญทุกท่านให้เสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อขับเคลื่อนในเชิงระบบทั่วประเทศ และขอเชิญมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สสส. ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนเข้าร่วมให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข