วันจันทร์ ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567 23:36 น.

กทม-สาธารณสุข

สสส.หนุนมติมหาเถรสมาคมสร้างพระสงฆ์นักสาธารณะสงเคราะห์

วันจันทร์ ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564, 15.38 น.

สสส. จับมือภาคีเครือข่ายสุขภาพพระสงฆ์ หนุน มติมหาเถรสมาคม พัฒนาวัดเป็นที่พึ่งของสังคมช่วงวิกฤต ชูแนวคิด ‘สงเคราะห์ เกื้อกูล พัฒนา บูรณาการ’ สร้างแกนนำพระสงฆ์นักสาธารณะสงเคราะห์ มุ่งพัฒนากาย-จิต-ปัญญา-สังคม พัฒนาวัดต้นแบบสาธารณสงเคราะห์ 40 แห่งทั่วประเทศ ในปี 2565

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ กล่าวในพิธีเปิดโครงการพระสงฆ์สาธารณสงเคราะห์เสริมสร้างสังคมสุขภาวะว่า มหาเถรสมาคม ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา และภาคีเครือข่าย จัดโครงการพระสงฆ์สาธารณสงเคราะห์เสริมสร้างสังคมสุขภาวะ ภายใต้แนวคิด “สงเคราะห์ เกื้อกูล พัฒนา บูรณาการ” เพื่อสนับสนุนให้วัดและพระสงฆ์มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยในช่วงวิกฤต ซึ่งเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานตาม มติมหาเถรสมาคม เมื่อเดือนตุลาคม 2564 กำหนดให้วัดเป็นสถานสาธารณสงเคราะห์ของชุมชนในช่วงวิกฤต พร้อมสนับสนุนให้พระสงฆ์เป็นแกนนำด้านสาธารณสงเคราะห์ เพื่อให้วัดและพระสงฆ์ มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยในช่วงวิกฤต ซึ่งที่ผ่านมาคนไทยประสบปัญหาทั้งวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยทั่วประเทศ

“การดำเนินโครงการพระสงฆ์สาธารณสงเคราะห์เสริมสร้างสังคมสุขภาวะ จะจัดตั้งคณะทำงาน 6 ด้าน ได้แก่ 1.การปกครอง 2.การศึกษา 3.การศึกษาสงเคราะห์ 4.เผยแผ่ 5.สาธารณูปการ และ 6.สาธารณสงเคราะห์ เพื่อสนับสนุนให้วัดเป็นสถานสาธารณสงเคราะห์ของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการในการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์คนในชุมชนตรงจุด ซึ่งถือเป็นการทำงานที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา พร้อมยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย” สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าว

พระมงคลวชิรากร เลขานุการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ มหาเถรสมาคม กล่าวว่า การทำงานของพระสงฆ์นักสาธารณสงเคราะห์ มุ่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตแบบเชิงรุก โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เช่น พระสงฆ์อาพาธ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก โดยพระสงฆ์นักสาธารณสงเคราะห์มีวิธีปฏิบัติตามพุทธบัญญัติ 4 ข้อ ดังนี้ 1.ศาสนธรรม มุ่งสอนประชาชนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม ปฏิบัติธรรม เพื่อพ้นจากความทุกข์และปัญหา 2.ศาสนบุคคล พระสงฆ์เป็นผู้เผยแผ่และเป็นต้นแบบของการประพฤติปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา 3.สังคมสงเคราะห์ พัฒนากายและจิตใจ ภายใต้หลักพุทธธรรม และ 4.การพัฒนาสังคม พระสงฆ์เป็นผู้นำชุมชนทำให้วัดกลายเป็นศูนย์กลางของชุมชน และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ที่ผ่านมา มหาเถรสมาคม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมาได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมกว่า 10 จังหวัด อาทิ จังหวัดนครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก โดยจัดตั้งโรงทานเพื่อประกอบอาหารมอบแด่พระภิกษุ สามเณร และมอบให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมมอบเครื่องอุปโภค บริโภค เช่น น้ำดื่ม ยาเวชภัณฑ์

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มุ่งพัฒนาสุขภาวะองค์กรพระสงฆ์และชุมชน โดย สสส. ร่วมพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางสาธารณสงเคราะห์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชน และสังคม พัฒนาขีดความสามารถของพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านงานสาธารณสงเคราะห์ ผลักดันให้พระสงฆ์มีบทบาทในการเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนจนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ รวมถึงการให้ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยในการเป็นผู้อุปัฏฐากดูแลพระสงฆ์ที่อาพาธได้ ทั้งนี้ สสส. จะพัฒนาให้เกิดวัดต้นแบบการทำงานด้านสาธารณสงเคราะห์ทำงานเชิงรุกในช่วงวิกฤต 40 แห่งทั่วประเทศ ภายในปี 2565 เพื่อขยายผลการดำเนินการการพัฒนาให้วัดเป็นศูนย์กลางสร้างสังคมสุขภาวะที่ดีให้แก่ชุมชนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจกิจกรรมสาธารณสงเคราะห์สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.สาธารณสงเคราะห์.com หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม