วันจันทร์ ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2567 14:29 น.

กทม-สาธารณสุข

เศร้าใจผลสำรวจ พบคนกรุง 89 % ยังไม่ยอมหยุดรถทางม้าลาย

วันศุกร์ ที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565, 14.30 น.

สสส.- มูลนิธิไทยโรดส์ เปิดผลสำรวจพฤติกรรมหยุดรถทางม้าลาย 12 แห่งในกรุงเทพฯ พบ 89 % ไม่หยุดให้คนข้าม จุดหมอกระต่ายถูกชน รถไม่จอดให้ข้ามถึง 94 % ส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ถึง 92 % แนะควรสร้างระบบความปลอดภัยควบคู่การบังคับใช้กฎหมาย-สร้างจิตสำนึกผู้ใช้รถใช้ถนน

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากกรณี พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ถูกบิ๊กไบค์ชนขณะเดินข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต สสส. จึงร่วมกับ มูลนิธิไทยโรดส์ (ThaiRoads Foundation) สำรวจพฤติกรรมการหยุดรถบริเวณทางข้ามม้าลายในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 12 จุด ได้แก่ 1. บิ๊กซีสะพานควาย 2. ออลซีซั่นเพลส 3. พหลโยธินซอย 19 4. ประดิพัทธ์ซอย 19   5. สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ 6. สุขุมวิทซอย 33 7. สุขุมวิทซอย 21 8. ตลาดยิ่งเจริญ 9. สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ 10. เอกมัยซอย 2 11. ลาดหญ้าซอย 3 และ 12. โรงพยาบาลราชวิถี โดยทั้ง 12 จุดทางข้ามม้าลายมีลักษณะคล้ายกับจุดที่หมอกระต่ายถูกรถชนคือ เป็นถนน 4-6 ช่องจราจรแบบไปกลับ อยู่ห่างจากแยกสัญญาณไฟจราจร มีเครื่องหมายทางม้าลาย ป้ายเตือน และไม่มีสัญญาณไฟจราจรกดปุ่มสำหรับคนเดินข้าม

“จากการสำรวจพฤติกรรมการหยุดรถบริเวณทางข้ามม้าลาย 12 จุดระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม 2565 แบ่งเป็น รถจักรยานยนต์ 6,449 คัน รถยนต์ 7,619 คัน และรถโดยสาร 285 คัน รวม 14,353 คัน พบว่า 89% ไม่หยุดรถเมื่อมีคนมายืนรอเพื่อข้ามถนน มีเพียง 11% ที่หยุดรถ โดยรถจักรยานยนต์ไม่หยุดให้คนข้ามมากที่สุดถึง 92% คิดเป็นสัดส่วน 8% เท่านั้นที่หยุดรถให้คนข้าม รองลงมาคือรถยนต์ไม่หยุดรถ 86% และรถโดยสารไม่หยุดรถ 80% นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า ทางม้าลายบริเวณสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ จุดที่หมอกระต่ายถูกชนขณะเดินข้ามมีรถไม่หยุดให้คนข้ามมากถึง 94% ทั้งที่เกิดเหตุหมอกระต่ายถูกชนบริเวณดังกล่าวได้เพียงไม่นาน จึงควรมีระบบสร้างความปลอดภัยบนทางม้าลาย ควบคู่กับการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้น สสส. และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน ขอฝากให้ทุกคนทุกฝ่ายตระหนักถึงเรื่องปัญหาอุบัติเหตุและร่วมกันทำให้เกิดความปลอดภัยทางถนนในบ้านเราให้ได้”

นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า การทำงานสร้างความปลอดภัยทางถนน เป็นงานบูรณาการที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน  มีการบริหารจัดการโครงสร้างกลไกระบบต่างๆให้มีความเข้มแข็งและ บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง สำคัญอย่างยิ่ง คือ การปฏิบัติตามกฎหมายจราจร การมีพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัย เช่น ไม่ขับรถเร็ว ดื่มไม่ขับ สวมหมวกนิรภัย-คาดเข็มขัดนิรภัย โดยปลูกฝังการให้ความรู้สร้างวินัยจราจรตั้งแต่วัยเด็ก กรณีอุบัติเหตุคุณหมอกระต่าย เป็นบทเรียนสำคัญที่ผู้ขับขี่รถควรระวัง ที่สำคัญต้องชะลอความเร็วรถ เมื่อถึงบริเวณทางข้ามม้าลายที่มีคนข้ามถนน ให้ทางม้าลายเป็นทางข้ามที่ปลอดภัยสำหรับคนเดินเท้าที่ใช้ถนนร่วมกัน และคนข้ามมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย และคนข้ามถนนบนทางม้าลายก็ต้องคอยระมัดระวังดูให้แน่ใจแล้วจึงข้าม เพื่อลดความสูญเสียและลดอุบัติเหตุบนทางเท้าไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข

ข่าวในหมวดกทม-สาธารณสุข