วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 21:26 น.

กทม-สาธารณสุข

พิษโควิดทำแรงงานแพลตฟอร์มพุ่ง สสส.จับมือแรงงานหนุนนโยบายคุ้มครอง

วันพฤหัสบดี ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2565, 12.59 น.

โควิด-19 ทำคนตกงานหันทำอาชีพออนไลน์ เกิด “แรงงานแพลตฟอร์ม” สสส.ร่วมมือกระทรวงแรงงาน ภาคีเครือข่ายแรงงาน วิจัย พบขาดหลักประกันสุขภาพ เสนอออกนโยบายคุ้มครองเทียบเท่าแรงงานในระบบ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อทำรายงานการวิจัยข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานแพลตฟอร์ม (Platform worker) ผลักดันให้เกิดกฎหมายและนโยบายคุ้มครอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างหลักประกันสุขภาพให้แรงงานนอกระบบ ที่ทำอาชีพอิสระรูปแบบออนไลน์ สู่การมีอาชีพที่เป็นธรรมยั่งยืน

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้แรงงานในระบบจำนวนมาก ต้องตกงานกะทันหัน จากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้ประกอบการและร้านค้าจำนวนมากต้องหยุดกิจการชั่วคราวหรือปิดถาวร เพราะขาดทุน ประกอบกับการเติบโตของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดส่งผลให้เกิด “อาชีพอิสระรูปแบบใหม่” ที่ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” (Digital Platform) ในทางการค้าและบริการ เพื่อหารายได้แบบชั่วคราวและถาวร ขณะที่เจ้าของธุรกิจเริ่มใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มจ้างงานระยะสั้น ทำให้เกิดแรงงานนอกระบบรูปแบบใหม่ เรียกว่า “แรงงานแพลตฟอร์ม” (Platform Worker) จำนวนมาก ที่ใช้อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือในการประกอบอาชีพ “แพลตฟอร์ม” ในโลกออนไลน์ถูกนำมาใช้หารายได้มากขึ้น เช่น กลุ่มขับขี่รถรับจ้าง รับส่งเอกสาร อาหาร แม่บ้าน ฯลฯ

“สสส. มุ่งสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อทุกคนในสังคมไทย “แรงงานนอกระบบ” ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 20 ล้านคน ที่ต้องได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาพ ทั้งในสถานการณ์ปกติและวิกฤติโควิด-19 เพราะเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ ที่ลักษณะของการทำงานอาจทำให้มีความเสี่ยงสูงจากโรคต่างๆ ทำให้ สสส.ร่วมกับกระทรวงแรงงาน และภาคีเครือข่ายผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย ให้เกิดเป็นหลักประกันทางสังคมและสุขภาพที่เป็นธรรมต่อแรงงานทุกคน ผ่านการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ อาชีวอนามัย ความปลอดภัย และการขับเคลื่อนนโยบายอย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ และสิทธิสวัสดิการต่างๆ เทียบเท่ากับแรงงานในระบบ อีกทั้งมีความร่วมมือกับ “ไลน์แมน” พัฒนาไกด์ไลน์สร้างเสริมสุขภาพไรเดอร์ ใน 4 ประเด็น ได้แก่ อาชีวอนามัย ความปลอดภัย สุขภาพจิต กิจกรรมทางกาย และบรรจุเป็นหลักสูตรสำหรับฝึกอบรม “ไรเดอร์” ของทางไลน์แมน ตั้งเป้าแรงงานนอกระบบมีคุณภาพชีวิตที่ดี” นางภรณี กล่าว

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมวิจัย โครงการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคุณภาพชีวิตของคนทำงานแพลตฟอร์ม (Platform Worker) กล่าวว่า มีการจัดทำงานวิจัยเพื่อศึกษาสภาพการทำงานของแรงงานแพลตฟอร์ม ที่ทำเป็นอาชีพหลักและเสริม ในกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล และต่างจังหวัด 1,000 ตัวอย่าง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 ถึง มีนาคม 2564 จำนวน 3 กลุ่ม 1.กลุ่มขับขี่ยานพาหนะรับจ้าง 2.กลุ่มบริการรับ-ส่งอาหาร 3.กลุ่มรับจ้างทำงานบ้าน ปัญหาที่พบคือ แรงงานแพลตฟอร์มจำนวนมาก ไม่ได้รับการจ้างงานเป็นธรรม ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นธรรม และไม่มีสิทธิสวัสดิการเทียบเท่าแรงงานในระบบ จากการศึกษาจึงเกิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ประเด็น 1.งานที่เป็นธรรม (Fair work) ผลักดันแนวทางการบังคับหรือทำสัญญาที่ชัดเจนระหว่างผู้ประกอบการแพลตฟอร์มกับแรงงานแพลตฟอร์ม 2.ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม (Fair Reward) กำหนดและเผยแพร่เกณฑ์มาตรฐานของค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นกลาง โดยคิดเงินตามหลักสากลเพื่อประกันรายได้ 3.การแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair Competition) ส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องการทำงานและทำเงิน (Operational and Financial Literacy) กับแรงงานแพลตฟอร์ม เพื่อให้รู้วิธีการออมเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยง ขณะนี้อยู่ระหว่างทำข้อสรุป เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายที่เป็นธรรมต่อไป

“สาเหตุที่ทำงานวิจัยชิ้นนี้ เพราะการจ้างงานแพลตฟอร์มเป็นรูปแบบใหม่ ที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองชัดเจน ประกอบกับโควิด-19 ทำให้แรงงานนอกระบบผันตัวมาเป็นแรงงานแพลตฟอร์มมากขึ้น จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงแรงงานและภาครัฐ ต้องออกนโยบายคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์ม การมีงานวิจัยที่มีน้ำหนักและเชื่อถือได้ จะช่วยผลักดันให้สิทธิสวัสดิการด้านต่างๆ ที่เป็นธรรมเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น ขณะที่คนทำงานก็คาดหวังให้การทำงานในแพลตฟอร์มออนไลน์ สามารถเป็นรายได้หลักหล่อเลี้ยงชีวิตระยะยาวได้ ฉะนั้นการมีหลักประกันชีวิตเพื่อสุขภาวะที่ดี จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้” ผศ.ดร. ธานีกล่าว

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข