วันพฤหัสบดี ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567 17:32 น.

กทม-สาธารณสุข

กพย.ผนึก สสส.พัฒนาองค์ความรู้สรรพคุณ “กัญชา” ให้ทั้งคุณและโทษ

วันอังคาร ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2565, 12.35 น.

กพย.ผนึก สสส.เร่งพัฒนาองค์ความรู้สรรพคุณ "กัญชา" ลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ชี้ “กัญชา” ให้คุณการแพทย์ รักษา 6 โรค ลด 4 อาการป่วย แต่เตือนมีโทษถ้าใช้ไม่ถูกต้อง เพลียถึงขั้นซึมเศร้า

ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 กระทรวงสาธารณสุข ได้ปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ทำให้กระแสเรื่องกัญชาเป็นที่สนใจ กพย. ร่วมกับ สสส. สร้างความเข้มแข็งกลไกเฝ้าระวังระบบยา สร้างและจัดการความรู้ระบบยาเพื่อการเฝ้าระวังเตือนภัยสังคม รวมทั้งพัฒนางานวิชาการเพื่อสนับสนุนนโยบายและดำเนินการตามนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบยามาอย่างต่อเนื่อง “กัญชา” ถือเป็นสมุนไพรมีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่หากใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เกินความจำเป็น หรือมีสาร THC เกิน 0.2 % อาจทำให้เกิดอาการวิกฤตที่ส่งผลต่อระบบสาธารณสุข และเศรษฐกิจของประเทศได้

ผศ.ดร.ภญ.นิยดา กล่าวต่อว่า กัญชา มีสาระสำคัญหลากหลายชนิด เช่น แคนนาบินอยด์ นำมาใช้ในการรักษาหรือบรรเทาอาการปวดของโรค คำแนะนำในการใช้กัญชามาใช้ในทางการแพทย์ ปี 2564 โดยกรมการแพทย์ ระบุว่า กัญชารักษา 6 โรค/ภาวะ 1.ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด 2.โรคลมชักที่รักษายาก 3.ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 4.ภาวะปวดประสาท 5.ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย 6.เพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยระยะสุดท้าย และพบหลักฐานเชิงประจักษ์ในการช่วยควบคุมอาการ แต่ไม่ได้รักษาให้โรคหายขาดอีก 4 โรค 1.โรคพาร์กินสัน 2.โรคอัลไซเมอร์ 3.โรควิตกกังวลทั่วไป 4.โรคปลอกประสาทอักเสบ ซึ่งควรใช้ตามแพทย์สั่ง ประกอบกับแจ้งยาที่ใช้ส่วนตัว พร้อมศึกษาค้นหาข้อมูลของผลิตภัณฑ์เพื่อการใช้ที่ถูกต้อง และเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด

“กัญชา มีทั้งประโยชน์และโทษ ข้อมูลที่จำเป็นในการกำกับดูแลกัญชา-กัญชง โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบผลข้างเคียงของกัญชา เช่น ง่วงนอน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตับอักเสบ ผิวผดผื่น อุจจาระร่วง อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า ก้าวร้าว ขณะนี้ กพย. ร่วมกับ สสส. เร่งการศึกษาเรื่องของกัญชาในระยะยาวในมิติด้านประโยชน์ทางการแพทย์ มิติทางสังคมวัฒนธรรมและวิถีชีวิต และมิติด้านความมั่นคงทางยาและสุขภาพ ให้มีข้อมูลความรู้ให้ประชาชนได้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการที่จะนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อไป” ผศ.ดร.ภญ.นิยดากล่าว

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข