วันอังคาร ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567 19:08 น.

กทม-สาธารณสุข

สผผ.– กทม.ร่วมลงนาม MOU เกี่ยวก้อยสร้างสุขสังคมเมือง

วันพุธ ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 17.32 น.

สผผ.– กทม.ร่วมลงนาม MOU เกี่ยวก้อยสร้างสุขสังคมเมือง

วันที่ 10 ส.ค.65 นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กับ กรุงเทพมหานคร  โดยมีคณะผู้บริหารสำนักงานตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร ร่วมในพิธี จากนั้นได้ร่วมเสวนา "จับมือเดินหน้าร่วมแก้ไขปัญหาให้ประชาชน สผผ. & กทม." ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกับกรุงเทพมหานครฉบับนี้ เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของทั้งสองหน่วยงานที่มีเป้าหมายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และการแก้ไขความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะบูรณาการการทำงานและประสานความร่วมมือภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงาน ใน 5 ด้าน คือ

1.ด้านการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเร่งด่วน FAST TRACK OMB & BMA จะเป็นความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในการประสานและลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ  โดยในส่วนของกรุงเทพมหานครมอบหมายให้ผู้ประสานงานในระดับพื้นที่ ได้แก่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตสั่งราชการฝ่ายปกครองเป็นผู้ประสานงานระดับสำนักงานเขต และเลขานุการสำนักเป็นผู้ประสานงานระดับสำนัก โดยเข้าร่วมกลุ่มผ่านแอปพลิเคชันไลน์ LINE Official Account OMB FAST TRACK BMA เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อประสานงานระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและกรุงเทพมหานคร รวมทั้งช่องทางการประสานงานอื่น ๆ เช่น โทรศัพท์ โทรสาร และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) เป็นต้น สำหรับประชาชนที่ประสบปัญหา มีความเดือดร้อน หรือเป็นผู้พบเห็นปัญหา สามารถแจ้งผ่านระบบ Line Official: “OMB FAST TRACK BMA” หรือ โทรสายด่วน 1676 (ไม่มีค่าใช้จ่าย) 

2.ด้านการประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่และอำนาจของทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินและกรุงเทพมหานคร เป็นการจัดกิจกรรมในรูปแบบการออกหน่วยประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ พร้อมให้บริการปรึกษาปัญหาทางกฎหมายและรับเรื่องร้องเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มุ่งเป้าจัดกิจกรรมทั่วทั้ง 50 เขตในกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาได้นำร่อง 4 เขต คือ เขตสวนหลวง ทวีวัฒนา ประเวศ ดินแดง ได้ผลตอบรับดีโดยเฉพาะการรับฟังปัญหาความทุกข์ร้อนและให้คำปรึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด  ประชาชนเกิดทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการทำงานของหน่วยงานรัฐเข้าใจระบบ ระเบียบ ขั้นตอนการปฏิบัติงานมากขึ้น ซึ่งครั้งต่อไปกำหนดจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม เขตภาษีเจริญ และวันเสาร์ที่ 24 กันยายน ที่เขตพระโขนง

3.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับชุมชน  มุ่งสร้างเครือข่ายระดับชุมชนในรูปแบบกิจกรรมประชาชนคนทำดี จัดอบรมผู้แทนภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้นำชุมชนที่เป็นกระบอกเสียงและผู้นำความคิดของชุมชนในหลายภาคส่วน อาทิ ประธานชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข อปพร. แกนนำองค์กรชุมชนผู้นำสตรี ผู้นำศาสนา และชมรมผู้สูงอายุในพื้นที่ โดยให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ และส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเสนอแนะกลไกในการส่งเสริมธรรมาภิบาล และการปฏิบัติงานเพื่ออำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน ซึ่งจะจัดกิจกรรมนำร่องในพื้นที่เขตสวนหลวงเป็นเขตแรก ในวันเสาร์ที่ 17 กันยายนนี้

4.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับเยาวชน ร่วมมือกันในการสร้างเครือข่ายระดับเยาวชนในรูปแบบกิจกรรมเยาวชนคนดีเพื่อสังคมจัดกิจกรรม “เยาวชนคนดีเพื่อสังคม” อบรมให้ความรู้เยาวชนกว่า 100 คน จาก 50 เขตในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ และส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเสนอแนะกลไกในการส่งเสริมธรรมาภิบาล และการปฏิบัติงานเพื่ออำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน  หวังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้สามารถเป็นกระบอกเสียงและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหาในชุมชนตนเองได้

5.การแก้ไขปัญหาส่งเสริมวินัยทางจราจรและทางม้าลาย โดยร่วมกับ สสส.ให้เป็นแกนหลักในการรณรงค์ ทั้งกลุ่มผู้ขับขี่ ห้างร้าน และประชาชนผู้เดินถนน

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือในการปฏิบัติงานเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมให้กับประชาชน ดังนั้นการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับกรุงเทพมหานคร ภายใต้กรอบการทำงาน 5 ด้าน ในวันนี้ มุ่งให้ประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของคนเมืองสามารถขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการแก้ไขปัญหา ประชาชนที่เดือดร้อน ประสบปัญหาเอง หรือเป็นผู้พบเห็นปัญหา สามารถแจ้งผ่านระบบ Line Official: “OMB FAST TRACK BMA” หรือ โทรสายด่วน 1676 (ไม่มีค่าใช้จ่าย) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วลงแก้ปัญหาทันที ซึ่งที่ผ่านมาแก้ปัญหา เช่น น้ำ-ไฟภายในไม่เกินสองวัน

ด้านนายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การ MOU ร่วมกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินในวันนี้ ถือเป็นมิติที่ดีในการบูรณาการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร จากปัจจุบันที่ กทม. ได้นำเทคโนโลยีระบบ Traffy Fondue มาใช้รับเรื่องร้องเรียนปัญหาเส้นเลือดฝอยจากประชาชน ทำให้ผู้รับผิดชอบรับทราบปัญหาได้เร็วเพื่อที่จะเข้าไปแก้ไขได้รวดเร็วและแก้ได้มากขึ้นโดยไม่ต้องรอให้ผู้ว่าฯสั่งการ  ซึ่งการประสานความร่วมมือกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะยิ่งเสริมให้การแก้ไขปัญหามีความครอบคลุม รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการออกไปประชาสัมพันธ์เชิงรุกถึงในชุมชนเพื่อรับฟังปัญหาจากปากพี่น้องประชาชน การสร้างความตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน และจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับชุมชน กลุ่มต่าง ๆ  มุ่งหวังให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมให้กับคนในชุมชนด้วยกัน และเสนอแนะแนวทางการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน  โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถเป็นกระบอกเสียงและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหาในชุมชนตนเองได้

นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ลงพื้นที่พบปะชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ถือเป็นดำเนินงานเชิงรุก สำหรับแนวทางในอนาคตนั้น ทั้งสององค์กรจะร่วมกันขยายความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง เช่นการแก้ไขปัญหาเชิงระบบเกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดการขยะ ปัญหาความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่ และเป็น Smart City ส่วนภารกิจหลักของผู้ตรวจการแผ่นดินด้านการแสวงหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนของพี่น้องประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครนั้น ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกรุงเทพมหานครและหน่วยงานภายใต้สังกัด ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินและเร่งแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างทันท่วงที สำหรับประเด็นที่มีการร้องเรียนจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาถนนและทางเท้าชำรุด ปัญหาความปลอดภัยของการสัญจรบนท้องถนน ปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างไม่ทั่วถึง ปัญหาหาบเร่แผงลอย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแนวทางความร่วมมือในเรื่องอื่นๆ เช่น การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและการส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพ และมุ่งยกระดับรายได้ของประชาชนในชุมชนของกรุงเทพมหานครด้วย