กทม-สาธารณสุข
"องค์กรแพทย์" ชี้ "เงินบำรุง" ติดลบ เหตุกองทุน สปสช.จ่ายค่ารักษาพยาบาลต่ำกว่าจริง
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

ประธานองค์กรแพทย์ รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก ชี้ "เงินบำรุง" โรงพยาบาลหลายแห่งลดลงถึงขั้นติดลบ เกิดจากภาระงานและต้นทุนค่ารักษาสูงขึ้นหลังเพิ่มนวัตกรรมการรักษา ขณะที่อัตราเบิกจ่ายคืนโดยเฉพาะจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2568 พญ.รัชริน เบญจวงศ์เสถียร ประธานองค์กรแพทย์ โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก กล่าวถึงสถานการณ์โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงิน ว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ "เงินบำรุงโรงพยาบาล" ซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณที่ได้มาจากการดำเนินงานของโรงพยาบาล
หลักๆ คือ รายได้จากการรักษาพยาบาลผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ ประกันสังคม หรือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเงินบำรุงจะครอบคลุมค่าใช้จ่าย 9 ด้าน ได้แก่
1. ค่าวัสดุ เวชภัณฑ์ ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับผู้ปวย
2. ค่าบำรุงรักษาซ่อมแชม อาคาร เครื่องมือทางการแพทย์และระบบต่างๆ ที่เสียหายชำรุดอย่างเร่งด่วน
3. ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าจ้างพนักงานรายเดือน/รายวัน
4. ค่าตอบแทนภาระงานนอกเวลา (OT)
5. ค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (P4P)
6. ค่าฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากร/จัดการประชุมต่างๆ
7. ค่ากิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล
8. การจัดซื้อ/ปรับปรุงเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นเร่งด่วน
9. ค่าดำเนินการระบบงานต่างๆ เช่น งานไอที เวชระเบียน โดยมีระเบียบการใช้จ่ายเงินบำรุงโรงพยาบาล เป็นแนวทางควบคุมกำกับให้เกิดโปร่งใสและตรวจสอบได้
" สาเหตุหลักที่เงินบำรุงโรงพยาบาลลดลง เนื่องจากเงินบำรุงส่วนใหญ่มาจากการจัดสรรแบบเหมาจ่ายรายหัวของ สปสช. ซึ่งแบ่งจ่ายหลายกองทุนย่อยมากเกินจำเป็น
จึงมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดสรรของ สปสช. และงบกลางที่ได้มาในปี 2567 จัดสรรไปหน่วยบริการใด ขณะที่ภาระงานและต้นทุนการรักษาพยาบาลในปัจจุบันสูงขึ้นจากเทคโนโลยีและการพัฒนาความก้าวหน้าในการรักษาโรคต่างๆ ทำให้อัตราที่ สปสช. จ่ายคืนโรงพยาบาลไม่สอดคล้องกับต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่แท้จริง
โรงพยาบาลจึงขาดสภาพคล่องจนส่งผลกระทบทั้งการให้บริการประชาชนและการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บุคลากรลาออกไปอยู่ภาคเอกชน" พญ.รัชรินกล่าว
พญ.รัชรินกล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง สปสช.ควรนำงบประมาณที่ได้รับ มาจัดสรรให้โรงพยาบาลต่างๆ เป็นค่ารักษาพยาบาลให้เพียงพอกับต้นทุนก่อนที่จะนำไปจัดสรรในภารกิจอื่น
นอกจากนี้ แพทย์ พยาบาล สหวิชาชีพและบุคลากรทุกคน ต้องร่วมมือกันเพื่อเพิ่มรายรับเงินบำรุง โดย
1. เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การตรวจรักษา ลดระยะเวลารอคอย และทำหัตถการที่สามารถเบิกค่าบริการ เพื่อเพิ่มรายได้จากการเรียกเก็บเงินส่วนกลางหรือกองทุนต่างๆ
2. บันทึกเวชระเบียนให้ครบถ้วนถูกต้อง เพื่อเรียกเก็บค่าบริการจากกองทุนต่างๆ ได้ครบถ้วน
3. เปิดคลินิกบริการพิเศษ เช่น คลินิกมะเร็ง คลินิกโรคเรื้อรัง เพื่อให้สามารถบริการผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นและรวดเร็ว ช่วยให้ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพิเศษหรือโครงการนำร่อง
4. พัฒนาระบบงาน คุณภาพการบริการผู้ป่วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาต่อโรงพยาบาล ขณะเดียวกันต้องลดรายจ่าย โดยสั่งจ่ายยาและตรวจแล็บอย่างเหมาะสม ไม่ซ้ำซ้อน, ลดระยะเวลาการนอนรักษาในโรงพยาบาล โดยสร้างเครือข่ายการดูแลต่อเนื่อง เช่น ส่งกลับโรงพยาบาลชุมชนหรือดูแลที่บ้าน (Home Ward) ป้องกันภาวะแทรกซ้อนในโรงพยาบาล, เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการ โดยจัดระบบเวรหรือห้องตรวจให้เหมาะสม ใช้ระบบการปรึกษาทางไกล/การแพทย์ทางไกล ให้ความรู้ผู้ป่วยในการดูแลตนเอง เป็นต้น
ขณะเดียวกันเมื่อวานนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดแถลงด่วน ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา 'แพทย์ลาออก' จากโรงพยาบาลรัฐ โดยเน้นว่าจะมีการเพิ่มเงินสิทธิพิเศษต่างๆ โดยนำงบมาจาก 'เงินบำรุง' โดยนพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(ด้านบริหาร) ยืนยันว่ายังคงสามารถจัดสรรได้ หากกองทุนจ่ายเงินเข้ามาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข
ข่าวในหมวดกทม-สาธารณสุข ![]()
“อภัยภูเบศร” ผนึกกำลังเรือนจำปราจีนบุรี ต่อยอดสมุนไพรครบวงจร พร้อมบินลัดฟ้าสู่ World Expo 2025 โอซากา โปรโมท Thai Wellness สู่เวทีโลก 11:18 น.
- “สมศักดิ์”ถวายความรู้พระสงฆ์ปลอดโรค NCDs หลังพบ พระสงฆ์เสี่ยงป่วย NCDs ถึง 78% ตั้งเป้าปี 68 16:58 น.
- ฉลองครบรอบ 87 ปี มอบสุขภาพดีด้วย.. ชุดตรวจสุขภาพและวัคซีนป้องกันโรค 16:21 น.
- “สมศักดิ์” ลุยต่อ จ.ลำพูน ยกทัพ 10 คลินิก ส่งเสริม-คัดกรอง-ป้องกัน-รักษาโรค NCDs มาให้บริการเต็มที่ 12:04 น.
- “สมศักดิ์” ลุยต่อจังหวัดเชียงใหม่ เปิด”โครงการบริการทุกช่วงวัย” หลัง นายกฯ Kick off ใหญ่เมื่อเช้า 19:01 น.