วันพฤหัสบดี ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 02:32 น.

อาชญากรรม

"ทนายปราบโกง" นำอดีตพนักงานการท่าเรือร้องอัยการสูงสุด คดีค่าล่วงเวลายืดเยื้อกว่า 8 ปี ทำเดือดร้อนหนัก

วันพุธ ที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 11.09 น.

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 นายกฤษฎา อินทามระ หรือ ทนายปราบโกง พร้อมด้วยพนักงานและอดีตพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยเกือบ 100 คน ได้เดินทางไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด สืบเนื่องจากคดีมหากาพย์ค่าล่วงเวลาของการท่าเรือฯ ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 8 ปี และสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ถูกกล่าวหาอย่างแสนสาหัส

ทนายกฤษฎา กล่าวว่า คดีนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับเป็นคดีพิเศษ โดยตั้งข้อกล่าวหาว่าพนักงานการท่าเรือฯ โกงค่าล่วงเวลา ทำให้รัฐเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท การท่าเรือฯ ได้ดำเนินการติดป้ายไวนิลขนาดใหญ่ประจานพนักงานบริเวณสะพานลอยหน้าสำนักงาน และในปี 2560 ได้แจ้งข้อกล่าวหาพนักงานรวม 560 คนว่ากระทำความผิดในคดีพิเศษดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 การท่าเรือฯ กลับต้องจ่ายเงินประมาณ 50 ล้านบาท ให้แก่พนักงานเกือบ 100 คน ที่เคยถูกกล่าวหาว่าทุจริต ซึ่งทนายกฤษฎาชี้ว่าเป็นการตอกย้ำว่าคดีพิเศษนี้การท่าเรือฯ มีเจตนาจะกลั่นแกล้งและใส่ร้ายพนักงานผู้บริสุทธิ์ ต่อมาในปี 2566 DSI สามารถสั่งฟ้องพนักงานได้เพียง 34 คน จาก 560 คน โดยส่งสำนวนให้อัยการคดีพิเศษดำเนินการ แต่อัยการไม่สามารถฟ้องคดีได้ทันที จนเวลาล่วงเลยไปกว่า 17 เดือน กระทั่งในเดือนกันยายน 2567 อัยการจึงยื่นฟ้องจำเลย 34 คนต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลใช้เวลาพิจารณาคดีเพียง 5 เดือนเศษ และในวันที่ 18 มีนาคม 2568 ได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 34 คน พ้นจากข้อกล่าวหา รวมถึงจำเลย 6 คนที่รับสารภาพด้วย

หลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง อัยการได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์รวม 3 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ ทนายกฤษฎามองว่าการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ทั้ง 3 ครั้งนี้เป็นการประวิงคดี ทำให้จำเลยทั้ง 34 คน ต้องทนทุกข์ทรมานกับคดีนี้อย่างไม่สิ้นสุด เห็นได้จากกรณีจำเลย 6 คนที่รับสารภาพแต่ศาลก็พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากอัยการไม่สามารถนำสืบพยานหลักฐานและพยานบุคคลให้ศาลเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าจำเลยทั้ง 34 คนมีการกระทำความผิดตามฟ้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัยการไม่ได้ซักค้านพยานจำเลย 28 คนแม้แต่คำถามเดียว ที่น่าเศร้าคือเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2568 จำเลยที่ 23 ได้มีอาการช็อกและเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ซึ่งทนายกฤษฎาเชื่อว่าเป็นผลโดยตรงจากความเครียดในคดีนี้

ด้วยเหตุนี้ วันนี้ตนในฐานะทนายจำเลย จึงต้องนำจำเลยและอดีตพนักงานที่รอดพ้นจากการถูกฟ้อง มาร่วมยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอให้กำชับอัยการผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม และเห็นแก่ความเดือดร้อนของพนักงานหลายร้อยคน ซึ่งถูกการท่าเรือฯ กลั่นแกล้งใส่ร้ายมานานกว่าเจ็ดปี ทั้งที่พนักงานเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์
 

หน้าแรก » อาชญากรรม