วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 20:56 น.

เศรษฐกิจ

ชธ.จ่อประกาศประมูลปิโตรเลียมรอบ23 เม.ย.

วันอังคาร ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2563, 17.51 น.
ชธ.จ่อประกาศประมูลปิโตรเลียมรอบ23 เม.ย.
 
กรมเชื้อเพลิงฯ ลั่นประกาศประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบ 23 เม.ย.นี้ หวังเดินหน้าต่อลมหายใจ พัฒนาเศรษฐกิจชาติ ขณะที่เล็งถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ระบุใช้โมเดลเจดีเอเป็นต้นแบบ
 
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.)เปิดเผยว่า ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ กรมฯ จะเดินหน้าเรื่องการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ให้เร่งเจรจากับกัมพูชา เพื่อพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนระหว่างกัน โดยกรมฯ จะหารือกับกระทรวงต่างประเทศ ว่าควรจะเดินหน้าอย่างไร ภายในเดือนกุมภาพันธ์ น่าจะมีความชัดเจนว่าการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมครั้งที่ 23 จะมีการเปิดจำนวนกี่แปลงในอ่าวไทย หลังจากประเทศไทยไม่ได้เปิดสัมปทานรอบใหม่มายาวนาน 13 ปี ซึ่งการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมจะเป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดการจ้างงานได้อย่างต่อเนื่อง
 
"ทั้งการเปิดประมูลปิโตรเลียมรอบ 23 และการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาจะเป็นการช่วยให้นำทรัพยากรมาพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องช่วยการจ้างงาน พัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่องนับเป็นการต่อลมหายใจในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากไทยยังไม่ได้มีการพัฒนาปิโตรเลียมแหล่งใหม่มายาวนาน 13 ปี" นายสราวุธ กล่าว
 
นายสราวุธ กล่าวว่า การเปิดให้สิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 23 ในพื้นที่อ่าวไทย จะเปิดในรูปแบบ ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ก่อให้เกิดการลงทุนในการสำรวจขั้นต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท  ส่วนพื้นที่บนบกยังไม่ได้ นำมาเปิดประมูลในรอบนี้ เนื่องจากยังติดกฎหมายด้านการใช้ที่ดินของทั้งกฎหมายป่าไม้ กฎหมายของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ระบุว่า ไม่สามารถใช้ประโยชน์ใด ๆ นอกจากการทำการเกษตรเท่านั้น  ซึ่งคาดว่าจะประกาศเชิญชวนให้ประมูลได้ภายในช่วงสงกรานต์เดือนเมษายนนี้ จะคัดเลือกผู้ชนะได้ภายในปลายปี 2563 และลงนามสัญญาได้ภายในต้นปี 2564 ซึ่งจุดเด่นที่จะดึงดูดการร่วมลงทุนประมูล ก็คงเนื่องมาจากเทคโนโลยีใหม่ด้านการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การขุดเจาะมีโอกาสค้นพบได้มากกว่าเดิมในอดีต 
 
อย่างไรก็ตามแนวทางการพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา 26,000 ตารางกิโลเมตร ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เน้นการสร้างประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ และไม่สูญเสียอธิปไตย ซึ่งกรมฯ เห็นว่าน่าจะนำโมเดลการพัฒนาพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ ) มาเป็นต้นแบบในการพัฒนา เพราะไม่ได้แบ่งพื้นที่ แต่เป็นแบ่งประโยชน์จากรายได้ในสัดส่วนเท่ากันฝ่ายครึ่ง ซึ่งโมเดลนี้ได้รับการยกย่องชื่นชมระดับนานาชาติ และจากการพัฒนาร่วมกันมา 15 ปี ไทยและมาเลเซียก็ได้รายได้ประเทศละประมาณ 12,000 ล้านบาท/ปี หรือรวมรายได้แต่ละประเทศแล้วกว่า 180,000 ล้านบาท
 
ในปัจจุบันภาพรวมการจัดหาปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศช่วงปี 2562 มีสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศที่ดำเนินการอยู่ 38 สัมปทาน 48 แปลงสำรวจ แบ่งเป็นแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย 29 แปลง และแปลงสำรวจบนบก 19 แปลง มีการจัดหาปิโตรเลียมในประเทศคิดเป็น 40% ของความต้องการใช้ในประเทศ โดยมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมทั้งก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำมันดิบ คิดเป็นปริมาณรวมอยู่ที่ 821,060 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน แยกเป็นก๊าซธรรมชาติ 3,411 ล้านลูกกาศก์ฟุต/วัน ,ก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ คอนเดนเสต 110,318 บาร์เรล/วัน และน้ำมันดิบ 125,762 บาร์เรล/วัน 
 
โดย กรมเชื้อเพลิงฯ นับเป็นกรมฯ จัดเก็บสร้างรายได้อันดับที่ 4 ของประเทศ ซึ่งปี 2562 รายได้ของรัฐจากการพัฒนาปิโตรเลียมมีประมาณ 160,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ๆขึ้นมา ปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตจะลดน้อยลง และกระทบต่อฐานการผลิตอุตสาหกรรมของไทยที่ต้องยอมรับว่าในการพัฒนา "มาบตาพุด" นั้น เริ่มมาจากการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติและนำมาสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องจนเข้มแข็งในปัจจุบัน.