วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 05:07 น.

เศรษฐกิจ

ก้าวสู่ปีที่ 53 กฟผ. กับความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

วันเสาร์ ที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2564, 00.20 น.

ก้าวสู่ปีที่ 53 กฟผ. กับความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่กลับมารุนแรงกว่าเดิม ทําให้เศรษฐกิจของประเทศต้องหยุดชะงักอีกครั้ง การฟื้นตัวจากนี้ไปจึงต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วนกอบกู้ประเทศให้พ้นวิกฤตในครั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ในฐานะหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ถือเป็นหนึ่งในกลไกของรัฐที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้

 

กฟผ. เคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต

 

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กฟผ. ได้ระดมทุกสรรพกําลังทั้งกำลังกายจากพนักงานจิตอาสาทั่วประเทศและกำลังทรัพย์กว่า 200 ล้านบาท จัดหาอุปกรณ์การแพทย์ ผลิตนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 อาทิ ตู้ตรวจโควิด เจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ เสากดเจลอนามัยแบบเท้าเหยียบมอบให้แก่โรงพยาบาลและโรงเรียนนับพันแห่งทั่วประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจ้างงานระยะสั้นกว่า 1,000 อัตรา สนับสนุนการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวและสินค้าชุมชนอีกกว่า 50 ล้านบาท 

 

แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจำนวนมาก กฟผ. จึงเร่งผลิตตู้ตรวจโควิดเพื่อช่วยปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ลดความเสี่ยงจากการสัมผัสสารคัดหลั่งในการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 โดยสามารถกระจายไปยังโรงพยาบาลแล้วกว่า 500 ตู้ 

 

 

ตู้ตรวจโควิดของ กฟผ. ที่ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลสนาม

 

 

ส่วนภารกิจสำคัญในการดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ กฟผ. ได้ยกระดับมาตรการคุมเข้มขั้นสูงสุดคือ ล็อคดาวน์พนักงานเดินเครื่องและควบคุมการจ่ายไฟฟ้ารวมถึงพนักงานที่ดูแลระบบส่งไฟฟ้าทั่วประเทศให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่เฉพาะในพื้นที่ควบคุม Safe Zone จนกว่าจะพ้นวิกฤต เพื่อให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง และเพียงพอต่อความต้องการในช่วงสถานการณ์วิกฤต

 

นอกจากนี้ กฟผ. ยังเร่งดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับอนุมัติตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP2018 Rev.1) เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเกิดการจ้างงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างโซลาร์ลอยน้ำ การก่อสร้างระบบส่งเสริมความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังพุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว รวมถึงนำส่งรายได้หลายหมื่นล้านต่อปีให้กับรัฐเพื่อนำไปเป็นงบประมาณในการบริหารประเทศด้านอื่น ๆ อีกด้วย 

 

พลังงานไฟฟ้าเพื่อความสุขที่ยั่งยืนของคนไทย ควบคู่การดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม

 

ตลอด 52 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ไม่เคยหยุดผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย และกำลังเดินหน้าพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศสู่พลังงานสะอาดโดยมีเป้าหมายที่ความยั่งยืนของชาวโลก ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ผ่านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเขื่อนของ กฟผ. (Hydro-Floating Solar Hybrid Project) หรือ โซลาร์ลอยน้ำไฮบริด ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสานระหว่าง ‘พลังงานน้ำ’ กับ ‘พลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ’ ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศ และไม่ต้องใช้ที่ดินในการติดตั้งแผงโซลาร์อีกด้วย โดยเริ่มโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนมิถุนายนนี้ และจะเป็นต้นแบบของเขื่อนต่าง ๆ ต่อไป 

 

 

โครงการโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธร 

 

นอกจากนี้ กฟผ. ได้พัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น (Grid Modernization) เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามาในระบบเพิ่มมากขึ้น อาทิ การจัดตั้งศูนย์พยากรณ์พลังงานหมุนเวียนที่พร้อมพัฒนาเป็นศูนย์ควบคุมพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน รวมถึงการพัฒนากลไกการส่งมอบไฟฟ้าสีเขียวเพื่อดึงดูดการลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ต้องการไฟฟ้าสีเขียว ตลอดจนการเป็นผู้รับรองใบอนุญาตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certification) เพียงผู้เดียวในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้านำไปใช้ในการรับรองการใช้พลังงานสีเขียว 

 

อีกหนึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ลดปัญหา PM 2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่ง กฟผ. ได้เดินหน้าเปิดธุรกิจใหม่คือ “EGAT EV Business Solutions” ร่วมมือกับพันธมิตรและบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่หลายแห่งเพื่อพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT โดยตั้งเป้าขยายให้ครบ 400 สถานี ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ครอบคลุมทุกเส้นทางหลักทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชัน อุปกรณ์ชาร์จอีวี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง หวังสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้มีความมั่นคง เดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำไร้มลพิษอย่างยั่งยืน 

 

 

สถานี EleX by EGAT ภายในสถานีบริการน้ำมัน PT

 

ในขณะเดียวกัน กฟผ. ยังส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าควบคู่กับการดูแลคุณภาพอากาศตามแนวทาง Air TIME ผ่านโครงการความร่วมมือต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านห้องเรียนสีเขียว ศูนย์การเรียนรู้ รวมถึงโครงการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศอีกด้วย

 

กฟผ. เป็นของคนไทยทุกคนและมุ่งมั่นทำเพื่อทุกคน

 

แม้ประเทศไทยกำลังเร่งสปีดเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศสู่พลังงานสะอาด เพื่อตอบโจทย์ปัญหาภาวะโลกร้อนและเท่าทันกับรูปแบบความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป แต่การเปลี่ยนผ่านพลังงานต้องดำเนินการอย่างรอบด้านและคำนึงถึงประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม เพราะประเทศเรายังมีความจําเป็นต้องพึ่งพา ‘โรงไฟฟ้าหลัก’ เพื่อดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศในช่วงเวลาที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ 

 

การพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนในพื้นที่เดิมจึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานให้ราบรื่น ทั้งในด้านความมั่นคงในการใช้ไฟเป็นรายภาคเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในแต่ละพื้นที่ ด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่จะช่วยลดต้นทุนการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าใหม่มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ และด้านการรักษาสมดุลค่าไฟฟ้าจากการใช้เชื้อเพลิงในประเทศที่มีต้นทุนต่ำทำให้ค่าไฟฟ้าไม่สูงเกินไป อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าของประชาชนในประเทศของเราอีกด้วย

 

ไม่ว่าวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้จะหนักหนาเพียงใด กฟผ. จะร่วมเคียงข้างคนไทย เป็นอีกหนึ่งพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้แนวคิด EGAT for ALL กฟผ. เป็นของทุกคน เพื่อทุกคน ด้วยการผนึกกําลังกับทุกภาคีเครือข่ายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานรากขึ้นไป ให้สามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน