วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 03:20 น.

เศรษฐกิจ

ตั้งศูนย์พักพิง ในชุมชนการเคหะฯ

วันพุธ ที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2564, 12.00 น.
การเคหะแห่งชาติขานรับนโยบายรัฐบาลและกระทรวง พม. เร่งจัดตั้งศูนย์พักพิงสำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 ในชุมชนการเคหะแห่งชาติ  โดยแยกกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวออกจากครอบครัวเข้ามาดูแล  พร้อมบูรณาการร่วมกับชุมชนสาธารณสุขในพื้นที่ และเครือข่ายภาครัฐ - เอกชน  ถ้ารักษาหายกลับคืนสู่บ้าน หากอาการมากขึ้นส่งต่อโรงพยาบาลเครือข่าย
 
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส โควิด - 19 เป็นจำนวนมากเกินกำลังรองรับของโรงพยาบาล ประกอบกับ พลเอก  ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายจุติ  ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีความห่วงใยประชาชนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 แต่ไม่มีสถานที่รองรับในการรักษาพยาบาล จึงมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร ทั้งชุมชนการเคหะแห่งชาติ สาธารณสุขในพื้นที่ หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานภูมิภาค ตลอดจนหน่วยงานส่วนกลาง เพื่อดำเนินการจัดตั้งศูนย์พักพิงสำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 โดยใช้พื้นที่ของศูนย์ชุมชนในโครงการบ้านเอื้ออาทรจัดตั้งเป็นศูนย์พักพิงดังกล่าว เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวในชุมชนระหว่างที่รอเตียงเพื่อเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาล  รวมทั้งได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันดำเนินการจัดตั้งศูนย์พักพิงฯ ในโครงการบ้านเอื้ออาทรแล้ว 12 แห่ง
 
 
วัตถุประสงค์หลัก เป็นการแยกผู้ป่วยออกจากคนในครอบครัวและชุมชน เนื่องจากพื้นที่อยู่อาศัยมีจำกัด ไม่สามารถแยกกักตัวในบ้าน (Home Isolation) และเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อให้คนในครอบครัวและชุมชน
 
“การจัดตั้งศูนย์พักพิงฯ ในชุมชน เสมือนการแยกกักตัวในระดับชุมชน (Community Isolation) ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ถูกทอดทิ้ง ยังคงอยู่ในชุมชนเดิม มีกำลังใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้ป่วยบางคนที่มีอาการไม่รุนแรง และปฏิบัติตนในการรักษาอย่างเคร่งครัด มีโอกาสหายป่วยและกลับไปใช้ชีวิตตามปกติที่บ้านได้ ในศูนย์พักพิงฯ เรามีระบบดูแลผู้ป่วย ทั้งให้คำแนะนำปรึกษาหารือ การให้ยาและเวชภัณฑ์ที่เหมาะสม การจัดส่งอาหาร
 
การจัดเก็บขยะติดเชื้อ รวมถึงมีระบบป้องกันบุคลากรที่ให้การดูแลผู้ป่วยภายในศูนย์อย่างรัดกุม บางแห่งมีกล้องวงจรปิด สามารถสื่อสารระหว่างกันได้โดยไม่ต้องเข้าไปถึงตัว ลดความเสี่ยงได้ ส่วนคนที่มีอาการเพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง เราจะประสานนำส่งโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่าย ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจได้ว่าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี” นายทวีพงษ์ กล่าว
 
โมเดลของศูนย์พักพิงฯ ที่จัดตั้งขึ้น จะแตกต่างกันตามบริบทของแต่ละชุมชน และต้องเป็นชุมชนเข้มแข็ง มีความพร้อมในการบูรณาการกับเครือข่าย สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด -19 ในชุมชน นอกจากนี้ ในหมู่ผู้ป่วยด้วยกัน มีการสร้างระบบรุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง คนไข้รุ่นก่อนแนะนำคนไข้รุ่นหลัง เช่น การใช้อุปกรณ์วัดอุณหภูมิ การวัดค่าออกซิเจนในเลือด หรือวิธีปฏิบัติทั่วไปได้
 
ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ชุมชนของการเคหะแห่งชาติหลายแห่งมีความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์พักพิงสำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 และเป็นโมเดลต้นแบบให้ชุมชนอื่นนำไปขยายผลต่อได้
 
 “เมื่อถึงคราววิกฤต เราจะเห็นพลังร่วมของชาวชุมชนการเคหะแห่งชาติในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ศูนย์พักพิงฯ เป็นตัวอย่างการยกระดับขีดความสามารถของชุมชนกับเครือข่ายในการร่วมแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี”
 
สำหรับเครือข่ายภาคีที่เข้าร่วมในศูนย์พักพิงฯ นอกจากผู้อยู่อาศัยในชุมชน และคณะกรรมการชุมชนแล้ว ยังมีหน่วยงานในพื้นที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล อบจ. อบต. อสม. และหน่วยงานกลาง เช่น กรมอนามัย สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น โดยมีการเคหะแห่งชาติจัดหาสถานที่ในชุมชนรองรับการจัดตั้งศูนย์พักพิงฯ รวมถึงอาหารและเวชภัณฑ์แล้วแต่กรณี