วันอังคาร ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:27 น.

เศรษฐกิจ

สนค.เผยดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนเมษายน 2568 ขยายตัวต่อเนื่อง ตามการขยายตัวการก่อสร้างภาครัฐ

วันจันทร์ ที่ 05 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 08.50 น.

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนเมษายน 2568 ปรับขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนภาพการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้หลายหมวดวัสดุ เช่น ซีเมนต์ คอนกรีต และไม้ ปรับราคาขึ้นตามความต้องการใช้

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2568 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนเมษายน 2568 เท่ากับ 113.1 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.8 โดยมีสาเหตุจากความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐทั้งโครงการใหม่และโครงการต่อเนื่อง รวมทั้งมีความต้องการใช้ในการซ่อมแซมอาคารและที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.9 จากการสูงขึ้นของไม้พื้น ไม้แบบ วงกบประตู และวงกบหน้าต่าง จากความต้องการใช้ที่ขยายตัวทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันดีเซล ที่สูงกว่าปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 4.1 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป จากความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างภาครัฐ และการซ่อมแซมอาคารที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง และคอนกรีตผสมเสร็จ เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นทั้งค่าขนส่ง (น้ำมันดีเซล) และราคาวัตถุดิบสำคัญ (ปูนซีเมนต์ ทราย) หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 2.6 จากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย เหล็กตัว H และท่อเหล็กดำ เนื่องจากมีอุปทานเหล็กในตลาดสูง และราคาวัตถุดิบลดลง (บิลเล็ต เศษเหล็ก)  หมวดกระเบื้อง ลดลงร้อยละ 1.2 จากการลดลงของกระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา กระเบื้องเคลือบบุผนัง และกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น จากความต้องการใช้ลดลงตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน เนื่องจากอัตราหนี้เสียและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของสีทาถนนชนิดสะท้อนแสง และน้ำมันเคลือบแข็งภายในและภายนอก เนื่องจากมีความต้องการใช้ในการก่อสร้างด้านคมนาคมและการซ่อมแซมถนนของภาครัฐเพิ่มขึ้น หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 1.7 จากการลดลงของโถส้วมชักโครก ฝักบัวอาบน้ำ และราวจับสแตนเลส เนื่องจากความต้องการใช้ลดลงตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัว หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 2.1 จากการสูงขึ้นของสายไฟฟ้า VCT สายส่งกำลังไฟฟ้า NYY เครื่องตัดไฟอัตโนมัติ ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (ทองแดง) และถังบำบัดน้ำเสียระบบไม่อัดอากาศที่สูงขึ้นจากต้นทุนราคาวัตถุดิบประเภทหัวเชื้อ รวมทั้งมีความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างด้านสาธารณูปโภคของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 5.9 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย และวัสดุธรรมชาติ (หิน ดิน ทราย) เนื่องจากมีความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างด้านคมนาคมของภาครัฐเพิ่มขึ้น 

นายพูนพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤษภาคม 2568 มีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมายส่งผลให้การก่อสร้างภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น การขยายระยะเวลามาตรการลดค่าโอนและจดจำนองอสังหาริมทรัพย์เหลือร้อยละ 0.01 การผ่อนปรนเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (เกณฑ์ LTV) เป็นต้น และการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้ ภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มฟื้นตัว รวมทั้งมีความต้องการใช้เหล็กที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น