วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 14:29 น.

การศึกษา

"มมร-มจร"จับมือพัฒนาคณาจารย์ด้านพุทธ บริการสังคมภาวะโลก"disruption"

วันเสาร์ ที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2561, 16.24 น.
tags : มจร

"มมร-มจร"จับมือพัฒนาคณาจารย์ด้านพุทธ บริการสังคมภาวะโลก"disruption"

 

วันที่  8 กันยายน 2561 ที่ประชุมห้องสมุด สมเด็จพระญาณวโรดม มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร)  พระเทพบัณฑิต อธิการบดี มมร  เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาอาจารย์เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ โดยมีคณาจารย์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคประมาณ 100 รูป/คน เข้าร่วม และได้กล่าวว่า เอกสารประกอบการสอนนั้นจัดเป็นคู่มือสำคัญในฐานะเป็นสิ่งชี้ทิศนำทางให้การสอนมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น เพราะจะทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจแกนหลักของประเด็นในการศึกษาแต่ละรายวิชา

 

 

จากนั้นพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้อำนายการหลักสูตรสันติศึกษาและวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร บรรยาย เรื่อง "เทคนิคและแนวทางการเขียนเอกสารประกอบการสอน"  ความว่า มมร และ มจร เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย มีบทบาทสำคัญในการชี้นำสังคม โดยการนำหลักพระพุทธศาสนาเข้าไปร่วมตอบโจทย์สังคมที่กำลังเผชิญหน้ากับการท้าทายภายใต้กระแสของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป (disruption) การจับมือกันเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการร่วมผลิตผลงานทางวิชาการทางพระพุทธศาสนาเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมโลกต่อไป

 

 

"มหาวิทยาลัยแปลว่า #สถานที่เป็นอยู่อาศัยและผลิตความรู้ที่ยิ่งใหญ่ #หัวใจของมหาวิทยาลัยจึงเป็นอื่นไปไม่ได้หากมิใช่วิชาการ แล้วนำวิชาการลงไปสู่การปฏิบัติ เพราะมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ในการเสริมสร้างความสว่างไสวทางสติปัญญาให้แก่ชีวิตและสังคม ในบรรดาการบริหารจัดการทั้งหมดของมหาวิทยาลัย จึงไปจบลงที่วิชาการ การพัฒนาองค์ความรู้วิชาการ และเอื้อต่อการเสริมสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการให้แก่นิสืต คณาจารย์ และบุคคลทั่วไปที่เข้ามารับบริการ เพื่อให้สามารถเข้าถึงความรู้ ตื่น และเบิกบานตามความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา"พระมหาหรรษา กล่าวและว่า  

 

 

การเขียนนั้นเกิดการ 2 สร้าง คือ สร้างภาพในสมองออกมาเป็นภาพในกระดาษแล้วสร้างภาพในกระดาษมาเป็นตัวหนังสือ ถือว่าเป็นภาวนามยปัญญา การเขียนทำให้เราต้องอ่านและคิด คิดและอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าพึงตระหนักว่า "โลกจดจำนักเขียนนานมากกว่านักพูด" ถอดจากพระไตรปิฏก อยากให้โลกจำว่าเราเป็นใครต้องเขียนหนังสือ เช่น จากหนังสือวิมุตติมรรคพัฒนาเป็นสุทธิมรรคโดยมีกรอบของ ไตรสิกขา จากนั้นเขียนพุทธธรรมโดยมีกรอบอริยสัจ คนจะจำเราได้เพราะงานเขียนของเรา ด้วยการมา "สร้างตัวหนังสือเป็นภูมิธรรมของชีวิต" ทั้งพระพุทธศาสนาและศาสตร์สมัยใหม่ ด้วยคำว่า บูรณาการศาสตร์สมัยใหม่ 

 

 

นักเขียนจึงต้องมีต้นแบบของนักเขียน ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต ) ถือว่าเป็นต้นแบบของนักเขียน งานเขียนจึงต้องดูที่ 3 M คือ 1)Mindset ดูระบบวิธีคิดของการเขียน 2)Mindfulness กลับมานั่งเงียบๆ ทบทวบการเขียน 3)Mindmap ดูระบบการเชื่อมโยงของงานเขียน ด้วยการจากสารบัญ งานเขียนจึงต้องทำให้เกิด สารัตถภาพ เป็นสาระของงานที่เราเขียน สัมพันธภาพ การเชื่อมโยงของงานที่เขียน เอกภาพ มีความเป็นหนึ่งเดียว ภาษามีความคงเส้นคงวาของภาษา 

 

 

"ดังนั้น การพัฒนาตนอย่างต่อเนื่องในด้านวิชาการจะทำให้เราคมขึ้นทางด้านการคิดการเขียน จึงต้องพัฒนาอย่างสม่ำเสมอในการฝึกเขียนโดยเฉพาะการฟัง ทักษะการพูด ทักษะการการอ่าน ทักษะการเขียนมีความสำคัญมากในการเป็นอาจารย์ในยุค 4.0" พระมหาหรรษา  กล่าว

...........

(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก  Hansa DhammahasoและPramote OD Pantapat)

หน้าแรก » การศึกษา