วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:21 น.

การศึกษา

สกสค.เร่งปรับโฉมโรงพยาบาลครู สู่มาตรฐานสากล

วันอาทิตย์ ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562, 10.33 น.

สกสค.เร่งปรับโฉมโรงพยาบาลครู สู่มาตรฐานสากล

 

นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลครู และ ของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ว่า “หลังได้รับมอบหมายจาก นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เข้ามาดูแล สกสค.  ได้ทำการสำรวจขอบข่ายงาน หนึ่งในจำนวนงานทั้งหมดนั้น สถานพยาบาลเป็นภาระงานสำคัญงานหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันได้รับการจดทะเบียนจากกระทรวงสาธารณะสุข และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลครู” เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 เริ่มต้นจากการปรับปรุงการบริหารงานของ “โรงพยาบาลครู” โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลครู มีเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. เป็นประธาน แพทย์ประจำโรงพยาบาล และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้ามาช่วยกำหนดนโยบาย และทิศทางการดำเนินงาน ชุดที่สอง คณะกรรมการแพทย์ประจำโรงพยาบาลครู โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลครู (นายแพทย์วีระ ศิริรัตน์ตระกูล) เป็นประธาน มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำโรงพยาบาล และเภสัชกรเป็นกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้  จะเป็นคณะกรรมการปฏิบัติการ มีหน้าที่บริหารจัดการโรงพยาบาลครู และชุดที่สามคณะกรรมการกำหนดแผนการใช้ยาและเวชภัณฑ์ มีหน้าที่วางแผน และกำหนดความจำเป็นของการใช้ยาและเวชภัณฑ์ทั้งหมด     ของโรงพยาบาลครู

 

“ยา” ของโรงพยาบาลครูถือเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่ง เพราะเราอยู่ในข่ายยกเว้นการควบคุมจาก พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 คือเราสามารถซื้อยาที่มีผู้ผลิตรายเดียว หรือยาต่างประเทศได้ เราเน้นยาดี  ซึ่งราคาจำหน่ายให้ผู้ป่ายยึดราคากลางของกรมบัญชีกลาง ซึ่งคนไข้สามารถใช้สิทธิ์เบิกจ่ายได้ 100 % ภายใต้เงื่อนไขว่าให้ซื้อยาเป็นไตรมาสเพื่อให้ได้ยาที่ใหม่อยู่เสมอ โดยโรงพยาบาลครู จะต้องเป็นที่กล่าวขวัญว่ายาที่นี่ดีกว่าที่อื่นๆ นอกจากยาที่ดีมีคุณภาพแล้ว ยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหลายด้าน ที่มาจากโรงพยาบาล   ชั้นนำ และมีประสบการณ์ทางด้านการรักษามายาวนาน

 

นายอรรถพลกล่าวต่อว่า “ในส่วนของบุคลากรของโรงพยาบาลครูมีอัตรากำลังที่ได้รับการอนุมัติจากบอร์ด สกสค. 38 อัตรา แต่มีตำแหน่งที่ปฏิบัติงานอยู่เพียง 29 อัตรา ตำแหน่งว่าง 9 อัตรา ประกอบด้วยแพทย์อัตราว่าง 1อัตรา ทันตแพทย์อัตราว่าง 1 อัตรา พยาบาลวิชาชีพมีกรอบ 7 อัตรา ขณะนี้ขาด 2 อัตรา พยาบาลเทคนิคยังขาดอีก 1 อัตรา เจ้าหน้าที่พนักงานเภสัชกรรมยังว่าง 1 อัตรา และตำแหน่งนักรังสีการแพทย์ยังว่าง 1 อัตรา นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งบางตำแหน่งที่อาจต้องสลับสับเปลี่ยนเพื่อให้การทำงานคล่องลงตัวยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากนี้จะให้โรงพยาบาลครูกลับไปสำรวจถึงความจำเป็นและจะรีบสรรหา โดยมีหลักการว่าตำแหน่งไหนที่เป็นวิชาชีพควบคุม ผู้ที่ประกอบวิชาชีพควบคุม ต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพนั้นเท่านั้น เช่น เภสัชกร จะไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพเข้าไปปฏิบัติงาน แพทย์ พยาบาลก็ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

 

ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ คือการปรับปรุงอาคารโรงพยาบาลครูให้ได้มาตรฐาน เนื่องจากได้เปิดดำเนินการมานานร่วม 60 ปี ทำให้อาคาร รวมทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ชำรุดทรุดโทรม จึงมีความจำเป็นที่ต้องรีบปรับปรุงพื้นที่และจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการรองรับผู้ใช้บริการทั้งคลินิกในเวลาและคลินิกนอกเวลาที่กำลังจะเปิดให้บริการในปี 2562 ประธานจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมบริหารปรับปรุงอาคารโรงพยาบาลครู ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาอีก 1 คณะ เพื่อให้คณะดังกล่าวรีบดำเนินการเรื่องการปรับปรุงพื้นที่โดยเร็ว      

หน้าแรก » การศึกษา