“เสื้อดมกลิ่นกายอัจฉริยะ” มหิดลคว้ารางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว.
ผศ.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.ธารา สีสะอาด นักวิจัยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก คปก. เข้ารับรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2561 จากผลงานเรื่อง “เสื้อดมกลิ่นกายอัจฉริยะ” (Intelligent Smelling Shirt) ซึ่งเป็นผลงานวิจัยด้านพาณิชย์ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
กลิ่นกายมนุษย์สามารถบ่งบอกได้ว่าร่างกายมีสุขภาวะเป็นอย่างไร พบว่าในปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีในการตรวจวัดกลิ่นกายแบบสวมใส่ได้เลย ทีมวิจัยจึงมองเห็นเป็นประเด็นโจทย์ว่า ระบบจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ได้ที่ต้องการพัฒนาขึ้น สำหรับประยุกต์ใช้ในการตรวจวัดกลิ่นที่ปล่อยออกมาจากร่างกายมนุษย์เพื่อประเมินสภาวะสุขภาพ ควรมีรูปร่างลักษณะ และคุณสมบัติเป็นอย่างไร ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาเซนเซอร์เคมีบนผ้าสำหรับระบบจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ได้ในรูปแบบ “เสื้อดมกลิ่นกาย” เพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพ โดยใช้กลิ่นที่ออกมาจากร่างกายเป็นดัชนีชี้วัดสถานะสุขภาพ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดการรุกรานของโรค และจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตอย่างยิ่ง
.JPG)
งานวิจัยนี้เป็นการบูรณาการครบวงจร เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำซึ่งเป็นงานวิจัยพื้นฐาน เพื่อค้นหาวัสดุที่มีคุณสมบัติเป็นเซนเซอร์เคมีประเภทวัสดุนาโนคอมโพสิตของพอลิเมอร์และท่อนาโนคาร์บอน (Polymer/CNTS) ด้วยวิธีการจำลองเชิงโมเลกุล (Molecular Simulation) จากนั้นศึกษาโครงสร้างอสัณฐานของวัสดุโดยอาศัยเทคนิคการวิเคราะห์จาก Scanning Electron Microscope (SEM) และศึกษากลไกการทำงานของเซนเซอร์เคมีที่สร้างขึ้นจากเทคนิคการถัก การเย็บปัก และการพิมพ์สกรีน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเซนเซอร์เคมีให้มีความจำเพาะต่อโมเลกุลกลิ่นกาย (Selectivity) มีความไวในการตอบสนองต่อกลิ่น (Sensitivity) และมีเสถียรภาพในการตรวจวัดกลิ่น (Stability) ต่อมาในระดับกลางน้ำ จะเป็นการสร้างต้นแบบ หรือ Prototype ของระบบจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ได้ภายใต้การรับส่งข้อมูลแบบไร้สาย (Wireless Communication) และสุดท้ายในระดับปลายน้ำ จะเป็นการนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้งานและต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยมีนวัตกรรมใหม่ “เสื้อดมกลิ่นกายอัจฉริยะ” เป็นเสื้อดมกลิ่นกายตัวแรกของโลกที่มีการเพิ่มฟังก์ชั่นการตรวจวัดกลิ่นให้กับสิ่งทอ และเป็นเอกลักษณ์ของการประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในเอกสารสิทธิบัตรฉบับใดที่เคยทำมาก่อน โดยการใช้เทคนิคการพิมพ์สกรีนด้วยหมึกนำไฟฟ้า ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานอิเล็กทรอนิกส์ลงบนผ้าที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่ระดับอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังใช้ระบบการรับส่งข้อมูลด้วยเครือข่ายไร้สาย ระหว่างเสื้อดมกลิ่นกายกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จึงทำให้มีการรับส่งสัญญาณข้อมูลที่สะดวกรวดเร็ว มีการใช้งานที่ง่ายและต้องการพลังงานต่ำ สามารถทำงานที่อุณหภูมิห้องได้
ผลงานวิจัย “เสื้อดมกลิ่นกายอัจฉริยะ” (Intelligent Smelling Shirt) ได้รับการจดสิทธิบัตร (คำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 16010032) และยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ตลอดจนได้รับรางวัลระดับนานาชาติ และได้รับการพิจารณามอบรางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติให้เป็นรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ประจำปี 2560 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)