วันเสาร์ ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 11:56 น.

การศึกษา

ผู้ประกอบการวิเคราะห์จุดเด่นและจุดด้อยนักศึกษารองรับธุรกิจดิจิทัล

วันศุกร์ ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2562, 10.23 น.
ผู้ประกอบการวิเคราะห์จุดเด่นและจุดด้อยนักศึกษารองรับธุรกิจดิจิทัล
 
 
ในโอกาสครบรอบ 15 ปี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  มหาวิทยาลัยศิลปากร (ICT SILPAKORN) ได้เชิญผู้ประกอบการในธุรกิจดิจิทัล เกม และการสื่อสาร ที่รับนักศึกษาเข้าไปทำงาน ร่วมแสดงความคิดเห็นถึงคุณภาพและปัญหาการทำงานของนักศึกษา เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร ให้สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจและสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
นายศรุต ทับลอย ผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ Yggdrazil Group  ผู้ดำเนินธุรกิจด้าน VFX, Animation และ Game and Innovation  กล่าวว่า หลักสูตรของ ICT SILPAKORN สามารถผลิตบุคคลากรได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการดิจิทัลมีเดียในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี  ทั้งในด้านหลักสูตรการพัฒนาโปรแกรมและดีไซน์ที่ครบวงจร สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์ งานโฆษณา งานเบื้องหลังต่างๆ  ซึ่งยังต้องการบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรงและตลาดยังเติบโตอีกมาก  ทั้งนี้ จากการรับนักศึกษาจากหลักสูตรนี้มาทำงาน ถือว่ามีทักษะการทำงานดี โดยเฉพาะงานทางด้านศิลปะ รวมทั้งมีความโดดเด่นในเรื่องของแนวคิดและทัศนคติที่ดี ทำให้การทำงานระหว่างบุคคลไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ศักยภาพของเด็กไทยในปัจจุบันยังถือว่ามีความโดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในแถบอาเซียน แม้ว่าจะมีประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามที่มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างมาก ดังนั้น นักศึกษาจบใหม่ควรจะเรียนรู้และพัฒนาฝีมือ โดยใช้คุณภาพของงานเป็นตัวแข่งขันมากกว่าการใช้กลยุทธ์ราคาเพื่อดึงดูดลูกค้า เชื่อว่าการผลิตนักศึกษาจบใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญของประเทศไทยให้มีศักยภาพในการผลิตคอนเทนต์เพื่อส่งออกไปแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างแน่นอน
 
สำหรับตลาดดิจิทัลมีเดียในปัจจุบันนี้ถือว่ามีการแข่งขันสูงมาก ในขณะเดียวกันนานาชาติมองว่าตลาดไทยมีศักยภาพในด้านทักษะการผลิต เนื่องจากสามารถรับแรงกดดันและมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้การร่วมงานไม่มีปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟแวร์และการแข่งขันทางด้านราคา ซึ่งมีผลทำให้คุณภาพของงานออกมาไม่ค่อยมีคุณภาพ ส่งผลให้ธุรกิจเสียหายในระยะยาว ทั้งในแง่ความน่าเชื่อถือ รวมถึงขาดโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพของงานในระดับสูง ดังนั้น สถาบันต่างๆ ควรเร่งการปลูกฝังแนวคิดที่ดีให้กับเด็ก เพราะการผลิตบุคลากรที่ดีต้องมาจากจิตใจที่ดี ต้องมีความรับผิดชอบ สามารถทำงานเป็นทีมได้ ที่สำคัญต้องเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว และมีความเป็นมืออาชีพในสายงานที่ทำ รวมถึงการมองโลกในแง่บวก เพื่อให้รับแรงกดดันในการทำงานได้
 
ด้านนายศรัณย์พัจน์ เสรีวิวัฒนา ผู้ก่อตั้ง บริษัท คลาวด์คัลเลอร์เกมส์ จำกัด ผู้ผลิตและที่ปรึกษาด้านผลิตเกม เปิดเผยว่า ในฐานะอาจารย์ผู้สอนคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร (ICT SILPAKORN) มั่นใจว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสูงในการผลิตนักศึกษาเพื่อรองรับตลาดด้านดิจิทัลมีเดีย โดยเฉพาะความรู้ความสามารถพื้นฐาน แต่สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขคือการทำงานเป็นทีม เนื่องจากนักศึกษาจะเริ่มทำงานในช่วงของปีการศึกษาที่ 3 ซึ่งควรเริ่มทำตั้งแต่ปีการศึกษาที่ 1 เพื่อให้เด็กมีการปรับตัวและสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและรองรับการทำงานจริงในอนาคต เนื่องจากต้องยอมรับว่าในอุตสาหกรรมดิจิทัลมีเดีย การทำงานต้องอาศัยทีมเวิร์คเพื่อให้งานเดินหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่านักศึกษาไทยจะมีความโดดเด่นกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แต่ยังเสียเปรียบสิงคโปร์ ดังนั้น จึงต้องเร่งพัฒนาทักษะเรื่องภาษาเพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะโลกยังต้องการบุคลากรจำนวนมาก
 
ดังนั้นในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการด้านการผลิตและที่ปรึกษาด้านเกมต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มีความเห็นว่า ICT SILPAKORN เป็นสถาบันที่สร้างบุคลากรรองรับความต้องการของตลาดได้อย่างตรงจุด สามารถสร้างพันธมิตรทางธุรกิจได้ดี  และนักศึกษาที่จบที่นี่มีศักยภาพสูง  โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทรับนักศึกษาทางด้านผลิตเกมเข้าไปทำงาน ซึ่งทุกคนล้วนแล้วแต่ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ประกอบการต้องการเห็นสถาบันและเด็กไทยก้าวต่อไปในอนาคต เนื่องจากหลักการทำงานคือหัวใจของโลกยุคดิจิทัล  สิ่งที่คนคิดและทำไว้จะหายไปจากโลกนี้ เพราะสามารถใช้ซอฟแวร์ทำแทนได้หมด  ดังนั้น ต่อไปจึงเป็นยุคแห่งการเรียนรู้และการคิดต่อยอดว่าจะต้องทำอย่างไรที่จะนำวิธีคิดที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ มาประยุกต์หรือสังเคราะห์ใหม่และนำมาผสมผสานกับแนวคิดใหม่เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ต่อไป
 
ขณะที่นายธัชพล เลิศวิโรจนกุล บริษัท ฉายา พิกเจอร์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ Animation และ Visual Effect  กล่าวว่า หลักสูตร ICT SILPAKORN ถือเป็นหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของตลาด เนื่องจากมีครบทุกด้านทั้งการเขียนโปรแกรมและดีไซน์ ในฐานะผู้ประกอบการที่รับนักศึกษาจากที่นี่เข้าไปทำงาน ยอมรับว่าทุกคนทำงานได้ดี เพราะมีความโดดเด่นหลายด้าน เช่น เอกลักษณ์ทางด้านศิลปะและมีความกระตือรือร้นสูง อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมนั้นยังคิดว่าเด็กไทยยังด้อยในเรื่องวุฒิภาวะ เมื่อเทียบกับตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะการคิดงานเอง ความรับผิดชอบ แม้อายุจะมาก แต่ยังแฝงความเป็นเด็กสูง ยังต้องการการป้อนงานหรือรอรับมากกว่าการแสวงหา
 
ในฐานะผู้ประกอบการจึงต้องการฝากถึงสถาบันการศึกษาและนักศึกษา จะต้องตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเอง ซึ่งบางคนเมื่อไปสมัครงานมักคิดว่าค่อยไปเรียนรู้งานเอาข้างหน้า ขณะที่ผู้ประกอบการเองต้องการเด็กที่พร้อมทำงาน มีความเป็นมืออาชีพ หรือทำงานได้จริง ดังนั้น นักศึกษาต้องเตรียมความพร้อมที่จะทำงานได้จริง ซึ่งสถาบันการศึกษาควรมุ่งเน้นทั้งภาคปฏิบัติควบคู่ไปกับงานวิชาการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
 
นายเมธิน ปิงสุทธิวงศ์ ผู้จัดการ บริษัท Nabla Digital จำกัด ผู้ผลิตสื่ออินเตอร์แอคทีฟ เว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่น กล่าวว่า  ICT SILPAKORN ถือเป็นสถาบันที่มีความพร้อมในการผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพสูง และสามารถรองรับการเติบโตของตลาดดิจิทัลมีเดียในอนาคต เพราะมีการเรียนการสอนที่ครบองค์ประกอบทั้งด้านการดีไซน์ควบคู่ไปกับการเขียนโปรแกรม ทำให้นักศึกษา สามารถทำได้ตั้งแต่การคิดคอนเซ็ปต์ ออกแบบ ตลอดจนถึงการสร้างสรรค์ผลงานได้เลย ซึ่งแตกต่างจากหลักสูตรอื่นที่จะโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น  ทำให้นักศึกษาที่เรียนที่นี่สามารถนำความรู้ความสามารถไปทำงานหรือต่อยอดในสิ่งที่ตัวเองถนัดได้อย่างแท้จริง หากประเมินคุณภาพการทำงานของนักศึกษาพบว่าเมื่อรับเข้ามาทำงานแล้วพร้อมทำงานได้ทันทีตั้งแต่วันแรกที่เริ่มงานและมีความรู้รอบด้าน สามารนำความรู้ที่เรียนไปประยุกต์ใช้ในงานได้หลากหลาย เพราะที่มหาวิทยาลัยศิลปากรจะมุ่งเน้นในเรื่องภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้น ควบคู่ไปกับหลักวิชาการ ทำให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากที่นี่ สามารถแข่งขันได้กับเวทีต่างประเทศได้ สิ่งสำคัญ มหาวิทยาลัยศิลปากรมุ่งเน้นในการปลูกฝังให้นักศึกษามีคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อพัฒนาคนดีให้เป็นคนเก่งในสังคม
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเด็กไทยจะมีความสามารถทางด้านทักษะด้านต่างๆที่สูง แต่หากเทียบกับต่างประเทศแล้ว ยังมีจุดด้อยในเรื่องของการทำงานเป็นทีมเวิร์คและภาษาที่ใช้สื่อสาร ซึ่งทางเด็กจำเป็นต้องพัฒนาด้านนี้ให้มากขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นการเปิดโอกาสให้กับตัวเอง  เพราะการทำงานอาจต้องร่วมงานกับบริษัทข้ามชาติ หรือเดินทางไปทำงานต่างประเทศ

หน้าแรก » การศึกษา