วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 08:14 น.

การศึกษา

วิศวะฯ มหิดล คิดค้นระบบคัดกรองข่าวปลอมไวรัส COVID -19

วันเสาร์ ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563, 12.52 น.

วิศวะฯ มหิดล คิดค้นระบบคัดกรองข่าวปลอมไวรัส  COVID -19

 

 

โรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ   COVID -19  เกิดจากเชื้อไวรัสในตระกูลเดียวกันกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส (SARS) หรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง ที่เคยระบาดหนักใน 37 ประเทศทั่วโลก ช่วงปี 2002-2003 โดยโรคปอดอักเสบส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ พบได้ทั้งการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา ทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอด และเนื้อเยื่อโดยรอบ ร่วมกับการมีไข้ ไอ หายใจเหนื่อยหอบ จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศจีนและอีก 27 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วยนั้น ทำให้เกิดข่าวต่างๆ ทั้งข่าวจริง ข่าวลวงมากมาย ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต สุขภาพ เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเดินทางท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้คิดค้น “ระบบ AI คัดกรองข่าวปลอมในเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019” เพื่อเตรียมความพร้อมให้คนไทย ได้รับข้อมูล ข่าวสารที่ถูกต้อง เพื่อใช้เป็นแนวทางที่จะช่วยฝ่าวิกฤติในภาวะที่เสี่ยงจากโรคอุบัติใหม่นี้

ดร.สุเมธ ยืนยง หัวหน้าโครงการ พร้อมด้วย ผศ.ดร.นริศ หนูหอม และ ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี ผู้ร่วมวิจัย จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ในภาวะโรคแพร่ระบาด หรือ วิกฤติฉุกเฉิน ข่าวสารมีบทบาทสำคัญยิ่งในการกู้วิกฤติและทำให้เกิดพลังความร่วมมือร่วมใจของสังคมไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะ Social Network ที่นำเสนอข่าว ส่งผลให้ประชาชนเกิดความตื่นกลัวและวิตกกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งบทความและข่าวสารบนโลกโซเชียลนั้นมีความหลากหลายในเรื่องของเนื้อหา สาระ และความถูกต้อง มีทั้งเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริง ความคิดเห็นส่วนตัว รวมถึง ข่าวปลอม (Fake News) ซึ่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี และประสบการณ์เชี่ยวชาญทางด้านนิติวิศวกรรมการประมวลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing, NLPDigital Forensic Lab) และด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) จึงได้คิดค้น “ระบบ AI คัดกรองข่าวปลอมในเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019” โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยในการตรวจจับข่าวปลอม ช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบข่าวสารที่แชร์บนโลกออนไลน์ และเผยแพร่ข่าวสารข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง โดยหลักการทำงานของระบบ คือ การคือ ระบบตรวจจับข่าวปลอม โดยจะดึงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ จาก ทวิตเตอร์ หรือ เฟสบุค Facebook หรือ เว็บไซต์ Website ทางการของหน่วยงาน จะดึงข้อมูลส่วนเนื้อความ วันที่ และช่วงเวลา ซึ่งจะใช้เป็นตัวแบ่งข้อมูล และทำการประมวลผลข้อความที่ดึงมาได้ในแต่ละวันเวลา โดยทำการสกัด Name Entity ออกมา เพื่อหาคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การระบาดของโรค เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เฝ้าระวัง พื้นที่พบผู้ต้องสงสัย เป็นต้น หลังจากที่ได้ฐานข้อมูลแล้ว เราสามารถทำการค้นหาโดยใช้คำหรือข้อความที่เราสงสัย หากพบข้อความที่มีความหมายสอดคล้องกันในฐานข้อมูล ก็แสดงว่าบทความนั้นไม่ใช่ข่าวปลอม เพราะมีเนื้อความที่สอดคล้องกันกับฐานข้อมูล แต่หากไม่พบข้อความที่สอดคล้องกันเลย บทความดังกล่าวจะเป็นข่าวปลอม

จากการศึกษาข้อมูลของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หรือ Anti-Fake News Center Thailand ของรัฐบาล มีการรับแจ้งเรื่องเกี่ยวกับประเด็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ระหว่างวันที่ 25 ถึง -29 มกราคม 2563 พบว่า จำนวนข้อความที่แจ้งเข้ามาทั้งสิ้น 7,587 ข้อความ แต่มีจำนวนที่ต้องตรวจสอบยืนยัน (Verify) 160 ข้อความ พบว่ามีข่าวที่เกี่ยวข้องโดยตรง 26 เรื่อง แบ่งเป็น ข่าวปลอม 22 เรื่อง และข่าวจริง 4 เรื่อง เท่านั้น ซึ่งทีมนักวิจัยคาดว่านวัตกรรมดังกล่าว จะสามารถพัฒนาให้ใช้งานได้ในรูปแบบเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน ในเวลา 1 เดือน รวมทั้งตรวจสอบข่าวปลอมอื่นๆ ได้ด้วย

 

Email ข่าวการศึกษา เยาวชน ศิลปวัฒนธรรม  saowaporn@hotmail.com   และ  bat_mamsao@ yahoo.com

 

หน้าแรก » การศึกษา