วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:37 น.

การศึกษา

ซองเครื่องปรุงรสกินได้ลดขยะพลาสติก

วันอาทิตย์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2563, 08.25 น.
ซองเครื่องปรุงรสกินได้ลดขยะพลาสติก
 
 
ฟิล์มพลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหาร เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมพลาสติก และมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากช่วยรักษาคุณภาพของอาหาร ขึ้นรูปง่าย ตอบสนองต่อการใช้งานได้ดี มีความสวยงามของผลิตภัณฑ์ และราคาต้นทุนต่ำ จึงถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย  จนก่อให้เกิดขยะเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญฟิล์มพลาสติกดังกล่าวย่อยสลายได้ยากจึงตกค้างอยู่ในธรรมชาติเป็นจำนวนมาก  อีกทั้งการกำจัดขยะพลาสติกในปัจจุบัน ถูกกำจัดโดยการฝังกลบใต้ดิน หรือนำไปเผา ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็นจำนวนมาก และต้องใช้พื้นที่ในการดำเนินการ รวมถึงก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ นางสาวชลธิชา ผิวเอี่ยม และ นายสุขสันต์ พงษ์พยัคเลิศ นักศึกษาสาขาวิชาวัสดุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงทำการคิดค้นฟิล์มพลาสติกย่อยสลายได้ด้วยวิธีทางชีวภาพ  โดยการนำใบสับปะรดมาทำการวิจัย เพื่อช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก และเป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์  โดยมี ผศ.ดร.กัลทิมา เชาว์ชาญชัยกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา 
 
นางสาวชลธิชา ผิวเอี่ยม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และพสาสติกชีวภาพมากขึ้น พบว่า สับปะรดเป็น 1 ใน 7  สินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย จากสับปะรด ในพื้นที่ 1 ไร่ จะได้ใบสับปะรดเหลือทิ้ง เฉลี่ยประมาณ 10,380 กิโลกรัม  ทั้งนี้ใบสับปะรดมีองค์ประกอบหลัก สำหรับเป็นเยื่อเซลลูโลสคุณภาพสูง (Alpha Cellulose) เหมาะสมในการนำมาดัดแปรเป็นฟิล์มคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส (carboxymethyl cellulose หรือ CMC)  ซึ่งเป็นฟิล์มที่ย่อยสลายได้ด้วยวิธีทางชีวภาพ และสามารถรับประทานได้ตนจึงได้ศึกษาการผลิตซองเครื่องปรุงรสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ทำจากฟิล์ม CMC ด้วยการนำใบสับปะรดมาทำการดัดแปรให้เป็นฟิล์ม  มีขั้นตอนการผลิต 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การเตรียมเส้นใย  2.การสกัดเซลลูโลสคุณภาพสูง  3.การสังเคราะห์ CMC  4.การขึ้นรูปฟิล์ม CMC 
 
 
หลังจากนั้นนำฟิล์ม CMC มาทำการตรวจสอบโครงสร้างทางเคมี ความหนา ความสามารถในการละลาย สมบัติความต้านทานแรงดึงของฟิล์ม และตรวจสอบลักษณะภายนอกของฟิล์ม พบว่า ฟิล์ม CMC ที่ขึ้นรูปได้มีลักษณะฟิล์มใส บาง มีความคงตัวเป็นอย่างดี มีความสามารถในการละลายน้ำ และปลอดภัยต่อร่างกายสามารถบริโภคได้ นอกจากนี้ยังพบว่า CMC ที่ได้ยังไม่มีกลิ่น ไม่มีสี จึงไม่ส่งผลต่อรสชาติของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทั้งนี้ซองเครื่องปรุงรสบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากฟิล์มใบสับปะรด เมื่อรับประทานสามารถนำซองเครื่องปรุงรสวางลงในชามบะหมี่ และเติมน้ำร้อน ซองเครื่องปรุงจะละลายในน้ำ ทำให้ไม่มีซองพลาสติกเหลือทิ้งเป็นขยะ
 
 นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมจากธรรมชาติที่สามารถนำมาผลิตใช้ได้จริงในวงการอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากลดขยะพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ แล้ว ยังลดขยะจากอุตสาหกรรมเกษตรได้เป็นอย่างดี ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่  ผศ.ดร.กัลทิมา เชาว์ชาญชัยกุล โทรศัพท์ 08 -1659 -2889 หรือ นางสาวชลธิชา ผิวเอี่ยม โทรศัพท์  09 -4070 -1398
 
 
 
Email ข่าวการศึกษา เยาวชน ศิลปวัฒนธรรม  saowaporn@hotmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com             

หน้าแรก » การศึกษา