วันอาทิตย์ ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2568 01:17 น.

การศึกษา

ตู้ตรวจความดันบวก ม.เกษตร รพ.ศิริราช นำไปใช้จริง

วันพฤหัสบดี ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2563, 11.11 น.

ตู้ตรวจความดันบวก ม.เกษตร  รพ.ศิริราช นำไปใช้จริง

 
ตู้ตรวจความดันบวก สำหรับแพทย์ใช้ตรวจผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ผลงานจากทีมอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำไปติดตั้งใช้งานจริง ณ จุดตรวจถาวร โรงพยาบาลศิริราช
 
ผศ.ดร.ประพจน์ ขุนทอง หัวหน้าโครงการออกแบบ พัฒนาและติดตั้งตู้ตรวจความดันบวก เปิดเผยว่า โครงการนี้ ทางทีมผู้ออกแบบและพัฒนาจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. สนับสนุนงบจำนวน 85,000 บาท และบริษัท แคมฟิล (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนอุปกรณ์การจัดทำตู้ ในการออกแบบและติดตั้งกล่องความดันบวกและชุดกรอง HEPA (High Efficiency Particulate Air Filter)  ใช้อุปกรณ์ระดับเดียวกับที่ใช้ในห้องผ่าตัดในประเทศไทย และสามารถปรับระดับความดันบวกในตู้ได้ตามต้องการ
 
หลักการทำงาน แพทย์ผู้ตรวจจะอยู่ภายในตู้ตรวจ และผู้ป่วยอยู่ภายนอก โดยแพทย์จะเข้า-ออกตู้ตรวจผ่านประตูกระจก ภายในตู้ตรวจประกอบด้วย หลอดไฟ ระบบความดันบวก ระบบกรองอากาศที่มีตัวกรอง Pre-filter สำหรับกรองอนุภาคหยาบ และมี HEPA-filter สำหรับกรองอนุภาคขนาดเล็กรวมถึงไวรัส ไม่ให้เข้าสู่ตู้ตรวจได้ และภายในตู้ตรวจจะมีเครื่องปรับอากาศที่สามารถลดอุณหภูมิ เพื่อเพิ่มความสบายให้กับผู้ปฏิบัติงานภายในตู้ได้ ซึ่งในระหว่างการดึงเชื้อเพื่อนำไปตรวจนั้น ผู้ป่วยอาจมีอาการไอหรือจาม ตู้ความดันบวกจะช่วยป้องกันไม่ให้แพทย์ผู้ตรวจสัมผัสเชื้อโควิด-19 ผ่านลมหายใจหรือละอองน้ำลายของผู้ป่วยจากการไอหรือจาม ได้เป็นอย่างดี ตู้ตรวจยังสามารถเปิดช่องให้ผู้ป่วยยื่นมือเข้าไปในตู้เพื่อทำการเจาะเลือดได้ อีกด้วย
 
“ตู้ตรวจความดันบวก ติดตั้งใช้งานจริง ณ จุดตรวจหลักที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งก่อนเข้ารับการผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เฉลี่ยชั่วโมงละ  20 คน ซึ่งเป็นที่พอใจของแพทย์เป็นอย่างมาก ในอนาคตทางโรงพยาบาลศิริราชจะขยายการคัดกรองผู้ป่วย รอรับการผ่าตัดในกลุ่มอื่น ตู้ความดันบวกจึงจำเป็นและเป็นที่ต้องการของโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น” ผศ.ดร.วีรชัย  ชัยวรพฤกษ์ หนึ่งในทีมอาจารย์ผู้ออกแบบกล่าวเพิ่มเติม
 
ทีมผู้พัฒนายังคงพัฒนาและปรับปรุงอุปกรณ์ย่อยของตู้ตรวจความดันบวกอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป และเป็นการลดการนำเข้าจากต่างประเทศในอนาคตด้วย
 
สำหรับทีมที่ออกแบบอุปกรณ์ดังกล่าวได้แก่ผศ.ดร.เกรียงไกร อัศวมาศบันลือ, ดร.อรรถพร วิเศษสินธุ์, ผศ.ดร.ประพจน์ ขุนทอง, ผศ.ดร.เจตวีย์ ภัครัชพันธุ์ และ ผศ.ดร.วีรชัย ชัยวรพฤกษ์   
 
 
 
Email ข่าวการศึกษา เยาวชน ศิลปวัฒนธรรม  saowaporn@hotmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com

หน้าแรก » การศึกษา