วันศุกร์ ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 15:47 น.

การศึกษา

กรมศิลป์ ขุดพบแผ่นฤกษ์สมัยทวารวดีที่โบราณสถานโคกแจง นครปฐม

วันพุธ ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563, 08.59 น.
กรมศิลป์ ขุดพบแผ่นฤกษ์สมัยทวารวดีที่โบราณสถานโคกแจง นครปฐม
 
นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักศิลปากรที่  2 สุพรรณบุรี ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณฉุกเฉินเร่งด่วนปี 2563 เพื่อดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานโคกแจง ตำบลทุ่งน้อย อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม และได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด โบราณนุรักษ์ โดยมีนายศุภชัย  นวการพิศุทธิ์ เป็นนักโบราณคดีประจำการขุดแต่งโบราณสถาน เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 2  กรกฎาคม 2563  ผลจากการขุดศึกษาพบว่าโบราณสถานโคกแจงเป็นศาสนสถานสมัยทวารวดี ก่อด้วยอิฐ ขนาดความกว้างด้านละประมาณ 7.20  เมตร ทำบันไดกึ่งกลางด้านทั้ง 4 ด้าน จัดเป็นโบราณสถานที่มีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับโบราณสถานสำคัญหลายแห่งในเมืองโบราณนครปฐมที่พบก่อนหน้านี้
 
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563  ระหว่างการขุดศึกษาทางโบราณคดี พบแผ่นดินเผาทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 26.2  เซนติเมตร หนาประมาณ 1.2 เซนติเมตร วางอยู่ในตำแหน่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายในพื้นที่กรอบอิฐ แผ่นดินเผาทรงกลมนี้พบการขีดช่องตารางคล้ายกับดวงฤกษ์ โดยมีลักษณะการขีดออกเป็นแฉกจากแกนกลาง แบ่งเป็น 12  ช่อง และขีดเส้นวงกลมซ้อนชั้นจากแกนกลางออกมาเป็นระยะ เกิดเส้นซ้อนทับกันเป็นช่องตารางย่อย ในแต่ละช่องตารางย่อยพบตัวอักษรจารกำกับอยู่เกือบทุกช่อง นอกจากนี้ ยังพบการจารตัวอักษรที่ริมขอบแผ่นดินเผาอีกด้วย สำหรับรูปอักษรที่ปรากฏมีลักษณะคล้ายกับกลุ่มอักษรหลังปัลลวะ และเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ประกอบด้วย นางสาวพิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ (ภาษา เอกสาร และหนังสือ)  นายเทิม มีเต็ม ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาตะวันออก (ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร) และนางศิวพร  เฉลิมศรี นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ พิจารณาเบื้องต้นจากรูปอักษรบางตัวที่ปรากฏ มีความเห็นว่า รูปอักษรดังกล่าว เป็นอักษรหลังปัลลวะ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 อย่างไรก็ตาม การอ่านแปลและวิเคราะห์สาระในจารึก จำเป็นต้องพิจารณาจากอักษรที่มีทั้งหมด ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายหลังจากโบราณวัตถุได้รับการอนุรักษ์ให้มีความแข็งแรง
 
ปัจจุบันโบราณวัตถุชิ้นดังกล่าวได้เคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการอนุรักษ์ให้มีความแข็งแรง ก่อนที่จะนำสู่กระบวนการศึกษาวิเคราะห์ด้านจารึก และการศึกษาวิเคราะห์ด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
 
Email ข่าวการศึกษา เยาวชน ศิลปวัฒนธรรม  saowaporn@hotmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com

หน้าแรก » การศึกษา

ข่าวในหมวดการศึกษา