วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 02:01 น.

การศึกษา

ม.อ.พัฒนา ‘Chilica-Pod’ วิเคราะห์ความเผ็ดของพริกบนสมาร์ทโฟน

วันพุธ ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563, 08.46 น.
ม.อ.พัฒนา ‘Chilica-Pod’  วิเคราะห์ความเผ็ดของพริกบนสมาร์ทโฟน
 
 
รศ.ดร.วรากร ลิ่มบุตร นักวิจัยสาขาเคมีวิเคราะห์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า คณะทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ได้วิจัยและพัฒนา ‘เครื่องวัดสารให้ความเผ็ดในพริกแบบพกพา’ นวัตกรรมใหม่ที่เข้ามาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยาและเฮลธ์เทค (Healthtech) ของประเทศไทยให้ดีขึ้น โดยการวิจัยและพัฒนาเครื่องวัดสารให้ความเผ็ดในพริก เป็นการวัดปริมาณแคปไซซิน (Capsaicin) ที่อยู่ในพริก ซึ่งเป็นสารที่มีทั้งคุณประโยชน์และโทษต่อร่างกาย เมื่อผู้บริโภครับประทานสารชนิดนี้ที่มีอยู่ในพริกเข้าไป จะทำปฏิกิริยากับเส้นประสาทและส่งสัญญาณเดียวกันนี้ไปยังสมอง ทำให้รู้สึกเหมือนมีอะไรที่ร้อนๆในปาก ซึ่งผู้ที่แพ้สารแคปไซซิน อย่างรุนแรง อาจเกิดแผลพุพองในคอ อาเจียน และเกิดการช็อกหากแพ้อย่างรุนแรง 
 
อุปกรณ์ดังกล่าว จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมยา ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้พริกที่มีสารแคปไซซินในปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้งยังส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่ต้องการดูแลสุขภาพ โดยการตรวจหาปริมาณสารแคปไซซิน (Capsaicin) นั้น สามารถนำพริกแห้งที่ต้องการทราบความเผ็ดร้อนมาผสมกับแอลกอฮอล์ให้สารแคปไซซินละลายออกมา จากนั้นเสียบแผ่นตรวจจับสารเคมีเข้ากับตัวเครื่อง แล้วนำสารละลายที่ได้ไปหยดบนแผ่นตรวจจับสารเคมี สารแคปไซซินจะทำปฏิกิริยากับแผ่นตรวจจับสารเคมี เกิดเป็นกระแสไฟฟ้า ยิ่งมีแคปไซซินเป็นจำนวนมาก ก็จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้ามากขึ้น โดยทางม.อ.ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น Chilica-Pod  ขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อรองรับกับผลการวิเคราะห์บนสมาร์ทโฟน ทำให้อ่านค่าความเผ็ดของพริกบนสมาร์ทโฟนได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว 
 
จุดเด่นของเครื่อง Chilica-Pod  สามารถวิเคราะห์ความเผ็ดร้อนของพริกได้ทุกชนิด วิธีการใช้งานสามารถตรวจวัดความเข้มข้นของแคปไซซินได้ถึง 0.37 μM ในตัวอย่างที่เจือจางซึ่งมีความแม่นยำสูง ซึ่งได้รับการตีพิมพ์จากวารสาร ACS Applied Nano Materials และตรวจได้ทันทีโดยไม่ต้องพึ่งผลทางห้องปฏิบัติการที่มีค่าใช้จ่ายสูงอีกด้วย เหมาะกับอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมยาที่ต้องการวัดปริมาณความเผ็ดของพริกก่อนนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านต่างๆ รวมทั้งยังเป็นอุปกรณ์เฮลธ์เทค (Healthtech)  เหมาะกับกลุ่มที่ต้องการดูแลสุขภาพ ขณะที่การดีไซน์ให้มีลักษณะเหมือนพริก สามารถเสียบเข้ากับสมาร์ทโฟนด้วยช่อง USB-C โดยเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสำหรับการพกพา
 
 “ทางคณะทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง สำหรับการร่วมเป็นหนึ่งขับเคลื่อนนวัตกรรมที่สำคัญ เพื่อเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและยา รวมทั้งรองรับกับอุตสาหกรรมเฮลธ์เทคที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศร่วม 30 สื่อที่ตีพิมพ์และประชาสัมพันธ์งานวิจัยชิ้นนี้ (อ้างอิง: https://acs.altmetric.com/details/90559375/news) และยังได้รับรางวัลการเขียนข้อเสนอโครงการระดับดีเด่น  สาขาการเกษตรและอุตสาหกรรมการ เกษตรในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020)” รศ.ดร.วรากร กล่าว 
 
Email ข่าวการศึกษา เยาวชน ศิลปวัฒนธรรม  saowaporn@hotmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com

หน้าแรก » การศึกษา