วันเสาร์ ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 23:49 น.

การศึกษา

มรภ.สงขลา พัฒนาชุมชนต้นแบบ ต.ทุ่งลาน แนะทำเกษตรผสมผสาน

วันอาทิตย์ ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564, 12.12 น.
มรภ.สงขลา พัฒนาชุมชนต้นแบบ ต.ทุ่งลาน แนะทำเกษตรผสมผสาน
 
 
ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวถึงโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบ ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา : การทำเกษตรผสมผสาน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ปีที่ 2) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในท้องถิ่น ให้สามารถพึ่งพาตนเองเพื่อสร้างสังคมคุณภาพ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ ต.ทุ่งลาน ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำสวนยางพารา แต่จากสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำพบว่าในปี 2554 ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 132.43 บาท/กิโลกรัม และในปี 2558 ราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 53.44 บาท/กิโลกรัม (สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร) รายได้ของเกษตรกรลดลงประมาณ 60%  ส่งผลต่อการดำรงชีวิตอันเนื่องมาจากรายได้ลดลง แต่รายจ่ายของครอบครัวไม่ได้ลดลงไปด้วย จากสภาพการณ์ดังกล่าวเกษตรกรจึงต้องปรับตัวเพื่อหารายได้เสริม นอกเหนือจากรายได้หลักที่มาจากการทำสวนยางพารา ด้วยการเพิ่มทักษะอาชีพการทำเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้
 
 
ดร.มงคล กล่าวว่า คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา จึงได้สานต่อโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบ เป็นปีที่ 2  โดยน้อมนำการทำเกษตรผสมผสานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาถ่ายทอดให้กับชุมชน รวมทั้งองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม การบริหารจัดการ เพื่อพัฒนาชุมชนในพื้นที่ ต.ทุ่งลาน ให้มีความเข้มแข็งในทุกมิติ สามารถเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีศูนย์รวมของการพัฒนา คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นการดำเนินงานต่อยอดจากโครงการปีที่แล้ว ซึ่งทางคณะฯ ได้ส่งเสริมตลาดสำหรับผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากกาแฟ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ซาลาเปาไส้หน่อไม้ การผลิตโคเนื้อ ยุวเกษตรรักษ์ถิ่น การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์คลองหลา
 
 
ด้าน ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา กล่าวเสริมว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และเพื่อสร้างพลังจิตอาสาให้เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งผลที่คาดว่าจะเกิดจากโครงการนี้ คือ มรภ.สงขลา สามารถเป็นที่พึ่งของชุมชนในท้องถิ่นได้ ก่อให้เกิดชุมชนมีศรัทธาและน้อมนำแนวทางพระราชดำริมาบูรณาการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มีการเรียนรู้ร่วมกับทางมหาวิทยาลัย ช่วยสร้างรายได้และการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน และระหว่างชุมชนให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจชุมชนอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
 
ดร.กมลทิพย์ นิคมรัตน์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา กล่าวว่า กิจกรรมโครงการบริการวิชาการของคณะเทคโนโลยีการเกษตรในครั้งนี้ คือการพัฒนากาแฟเพื่อให้เป็นสินค้าอัตลักษณ์ของชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมย่อยที่ดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 เริ่มจากพัฒนาการแปรรูปและผลิตภัณฑ์ จากผลผลิตและวัสดุเหลือใช้ของกาแฟโรบัสต้า ซึ่งตนและ อ.ปริยากร สุจิตพันธ์ ผศ.นพรัตน์ วงศ์หิรัญเดชา และทีมงานคณะเทคโนโลยีการเกษตร ได้ดำเนินการตั้งแต่เริ่มสำรวจวัตถุดิบกาแฟโรบัสต้าและวัสดุสำหรับการแปรรูป ในพื้นที่ อ.คลองหอยโข่ง ทั้งนี้ ได้ศึกษาวิธีการเตรียมเมล็ดกาแฟแบบดั้งเดิม ได้แก่ การหมัก การสี การคั่ว การบรรจุ การใช้ประโยชน์จากเศษเหลือของการแปรรูปกาแฟ รูปแบบการจัดจำหน่ายกาแฟ และช่องทางการตลาดต่างๆ เพื่อให้โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบ ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา สำเร็จเป็นรูปธรรมในการทำเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
 
 
 
Email ข่าวการศึกษา เยาวชน ศิลปวัฒนธรรม  saowaporn@hotmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com

หน้าแรก » การศึกษา