วันศุกร์ ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2567 06:17 น.

การศึกษา

พระนักฝึกอบรมวางไมค์! จับงานพุทธเกษตรแบบพอเพียง สร้างความมั่นคงด้านอาหารเต็มรูปแบบ

วันพฤหัสบดี ที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2564, 10.49 น.

วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม 2564 พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดเผยว่า แวะถวายกำลังใจพระมหาสมใจ สุรจิตโต แห่งสถานธรรม สวนป่าภาวนาใจอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พระอาจารย์ใจหรือที่เด็กๆชอบเรียกว่าพระอาจารย์แตงโม ในฐานะกัลยาณมิตรถือว่าเป็นวิทยากรฝึกอบรมมือหนึ่งในการฝึกอบรมเด็กเยาวชนในด้านวิปัสสนากรรมฐานและกิจกรรมสำหรับเด็กเยาวชน ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันจึงมุ่งมาพัฒนาสถานที่เรียนรู้กายใจท่ามกลางดงผลไม้หน่อยหน่า อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สร้างเพื่อถวายพุทธบูชาเพื่อแผ่นดิน เพื่อเป็นที่อบรม ทำกิจกรรมทุกรูปแบบ เปิดให้มาใช้สถานที่ได้อย่างอิสระตามหลักสูตรของผู้นั้นๆ ที่นี่มีผลไม้ เน้นแจกทานฟรีทุกชนิด จะมีสร้างพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เพียงสององค์ องค์หนึ่งมีหน้า องค์หนึ่งไม่มีหน้า เพื่อเป็นปริศนาธรรมสอนธรรม ที่นี่ในอนาคตปรับภูมิทัศน์แล้วจะมีสถานีธรรมะหลากหลายสูตรเหมาะกับวัย แต่ที่น่าสนใจมากคือ มีแปลงพุทธเกษตรพอเพียง จากที่เป็นพระสงฆ์นักฝึกอบรม หันมาพัฒนาพุทธเกษตรที่สามารถพึ่งตนเองได้
      
ในภาวะปัจจุบันจงหาทางรอดมิใช่ทางเลือก ในปี 2564 อาจจะนำไปสู่ผู้คนแย่งอาหารกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่การลงมือทำอะไรบางอย่างกับพื้นที่ดินให้เกิดคุณค่าและมูลค่าสามารถพึ่งพาตนเองได้ แม้จะเผชิญกับช่วงเวลาที่เป็นวิกฤต เพราะในช่วงวิกฤตความมั่นคงทางอาหารมีความสำคัญที่สุด ด้วยการสามารถพึ่งตนเองได้ ลักษณะที่ว่า ตนเป็นพึ่งแห่งตน จากนั้นคนอื่นจะสามารถพึ่งเราได้ ในยามวิกฤตเรายังไม่สามารถพึ่งตนเองได้แม้เพียงอาหาร เวลาเรามีไอเดียดีๆ ต้องคิดแล้วได้ลงมือทำ ไม่ควรถูกบล็อคความคิดดีๆ จงมีชีวิตเพื่อใช้ชีวิตและจงเป็นให้เป็น พื้นดินที่มีอยู่จะมีการวางแผนอย่างไร จึงสอดรับกับ SDGs เป้าหมายของการพัฒนาที่มีความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ  ประกอบด้วยคือ 1)ขจัดความยากจน 2)ขจัดความหิวโหย 3)มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 4)สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก จึงพร้อมลงมือทำ  
       
ความหิวโหยทำให้เกิดความทุกข์จึงมุ่งสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและจิตใจ จึงตั้งคำถามว่า รูปแบบการจัดการอาหารที่แท้จริงควรจะมีรูปแบบอย่างไร อะไรคือจุดแข็งประเทศไทย คำตอบว่า คือ #เกษตรกรรมการใช้ชีวิตที่พอเพียง เป็นจุดแข็งของคนไทย อย่าลืมว่า #ความหิวโหยนำมาซึ่งความทุกข์ ถ้าปากท้องยังหิวอยู่สันติภาพก็เกิดขึ้นได้ยากมาก ปากท้องจึงต้องมาก่อน พระพุทธเจ้ายังไม่แสดงธรรมแก่บุคคลที่กำลังหิวท้องยังไม่อิ่ม แสดงว่าพระองค์ให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะในภาวะโควิดทำให้เราได้เรียนรู้ครั้งยิ่งใหญ่ของความต้องการของมนุษย์ที่แท้จริงว่า #เราต้องการอาหาร ทำให้มีการตระหนักถึงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ ๙ ซึ่งพระองค์ทรงย้ำกับคนไทยเรื่อง ความเพียงพอ ใครที่เดินทางตามแนวทางของพระองค์จึงอยู่รอดอย่างมีความมั่นคงและเกิดสันติสุข      
     
เพราะชีวิตของมนุษย์ที่ผ่านมาเราฝากชีวิตไว้กับห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ฝากชีวิตไว้กับคนอื่นซึ่งควบคุมไม่ได้ แต่พอเกิดภาวะวิกฤตแล้วไม่ค่อยจะสะดวกด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ  ไม่สามารถมีอาหารให้เราได้ตลอดเวลา ชีวิตเราฝากปากท้องไว้กับไว้กับชั้นวางสินค้าของห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อต่างๆ พอเกิดวิกฤตขึ้นมาเราไม่สามารถพึ่งพาได้ เพราะอาหารเป็นสิ่งที่ต้องเพาะต้องปลูกต้องทำ ในอดีตไทยเราได้รับฉายาว่า #อู่ข้าวอู่น้ำ แต่พอเกิดวิกฤตเราห่างไกลอาหาร เราทานอาหารทุกวัน มองว่าอาหารมีมากมายทุกหัวมุม โดยไม่ได้มองว่า #การจัดการอาหารที่แท้จริงเป็นอย่างไร???  จึงนำอาหารไปฝากไว้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ถือว่าเป็นความประมาทยิ่งนักในการบริหารจัดการชีวิต ในภาวะโควิดจึงทำให้เราตระหนักรู้ พร้อมจะลุกขึ้นมาสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร  
     
ปัจจุบันเรามีความมั่นใจอาหารในระบบเดียว คือ #ระบบที่เป็นการค้าโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เรามั่นใจว่ากลุ่มทุนระบบใหญ่จะสามารถจัดการอาหารให้เราได้ตลอดเวลา เรามีความมั่นใจสูงเกินไป เราเลยขาดความมั่นคงในภาวะวิกฤต เราปล่อยให้ทุนขนาดใหญ่เป็นผู้ควบคุมระบบการค้าปลีกขนาดใหญ่ มีการผูกขาดอย่างชัดเจน บทเรียนจากภาวะวิกฤตในการจัดการภายใต้ภาวะวิกฤต จะเป็นตัวแบบในการจัดการในอนาคต เพราะ #โควิดคงไม่ใช่วิกฤตสุดท้ายของมวลมนุษย์อย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะเกิดวิกฤตลักษณะแบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุดหรืออาจจะเกิดรุนแรงกว่านี้ จึงต้องเตรียมตัวก่อนจะสายเกินไป    
    
ความมั่นคงทางด้านอาหาร หมายถึง เราต้องมีอาหารอยู่ในมือ มีอาหารใกล้ตัว ที่เราจะสามารถเข้าถึงอาหารได้โดยไม่มีข้อจำกัดมากมาย ด้วยการพึ่งตนเองได้ อาหารที่ปลอดสารพิษ เรามักจะปล่อยให้อาหารห่างจากตัวเรา ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ในยามปกติและในยามวิกฤต ภาวะนี้คงเตือนสติผู้คนได้เป็นอย่างมากว่าอะไรสำคัญที่สุด แม้ขนาดว่าเรามีเงินยังไม่สามารถซื้ออาหารได้เลย จึงต้องตระหนักว่า เราควรสร้างความมั่นคงทางอาหาร สามารถพึ่งตนเองได้ ทั้งในยามปกติสุขและในยามวิกฤติ ในวิกฤตนี้เป็นช่วงเวลาที่หลายคนตกงาน ถูกเลิกจ้าง จึงเป็นโอกาสที่จะสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร บริหารจัดการอาหารของตนเองได้ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในวิถีแห่งความพอเพียง    
     
เราต้องกลับมาทบทวนว่าเราจะต้องสามารถพึ่งตนเองได้แม้จะเจอภาวะวิกฤตของโลก ประเทศไทยนับว่าโชคดียิ่งที่มีฐานของเกษตรกรรม พืชผักอาหารมีความอุดมสมบูรณ์ มีความเป็นสัปปายะในการใช้ชีวิต เราจึงควรดำเนินชีวิตที่ไม่ประมาท เพราะไวรัสสามารถหยุดทุกกิจกรรมของโลก เราจึงควรสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารเพื่อความอยู่รอดของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมุมมองด้านเศรษฐกิจ การเงิน ด้านการตลาด และอาหาร วิธีรับมือกับ New Normal ที่ดีที่สุดคือ การเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ พึงตระหนักว่า ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลาแบบหักศอก จงดำเนินชีวิตที่มีสติเป็นฐานและสร้างความมั่นคงทางด้านจิตใจและความมั่นคงทางด้านอาหาร 
     
ดังนั้น ทำให้พระสงฆ์หลายรูปลงมาทำอย่างจริงจังในมิติความมั่นคงทางด้านอาหารควบคู่กับความมั่นคงทางด้านจิตใจในภาวะเช่นนี้ หนึ่งในนั้นคือพระอาจารย์แตงโมวางไมค์มาจับเรื่องพุทธเกษตรอย่างจริงจัง ท่านใดแวะผ่านมาสามารถแวะกราบนมัสการท่านพระอาจารย์แตงโม ได้ที่ สถานธรรม สวนป่าภาวนาใจ ถนนเทศบาล 5  ซอย 2 หมู่ 8 ตำบลพญาเย็น  อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา (ติดตำบล กลางดง ใกล้ถนนมิตรภาพ  ใกล้มวกเหล็ก) 099 614 6195 แวะทานหน่อยหน่าไร้สารพิษดีจริงๆ โอกาสนี้พระครูภาวนาสารบัณฑิต ดร. ผู้อำนวยการส่วนธรรมนิเทศ มจร ได้ถวายผ้าไตรจีวรและหนังสือสังเวชนียสถานดินแดนพุทธภูมิถวายเป็นกำลังใจ    

 

หน้าแรก » การศึกษา