วันพฤหัสบดี ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567 18:48 น.

การศึกษา

มหาจุฬาอาศรมปากช่องปรับโฉม สร้างความมั่นคงทางอาหารและจิตใจ ผ่านพุทธเกษตรวิปัสสนากรรมฐาน

วันศุกร์ ที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2564, 18.43 น.

เมื่อวันที่ ๙   กรกฎาคม  ๒๕๖๔ พระปราโมทย์  วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา และเลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า มีโอกาสแวะเยี่ยมชมมหาจุฬาอาศรมสถานที่บ่มเพาะพัฒนาจิตใจ ในฐานะเคยมีโอกาสเข้ามาพัฒนาด้านวิปัสสนากรรมฐานสมัยเป็นพระนิสิตมหาจุฬาฯ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพมากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัดซึ่งมีความพร้อม  

มหาจุฬาอาศรม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ถือว่าเป็นต้นแบบของศูนย์วิปัสสนากรรมฐานด้านการพัฒนาจิตใจภายใต้ภาวนา ๔ ประกอบด้วยการพัฒนาด้านกายภาพ พัฒนาด้านพฤติภาพ  พัฒนาด้านจิตภาพ และพัฒนาปัญญาภาพ กำกับดูแลโดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติและพุทธเกษตรสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มหาจุฬาอาศรมจึงเป็นสถานที่ส่งเสริมและบริการสังคมอย่างเห็นได้ชัด โดยมีเด็กเยาวชน บุคคลทั่วไป หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาใช้บริการสถานที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงกิจกรรมของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งได้รับความเมตตายิ่งจากพระเดชพระคุณพระธรรมวัชรบัณฑิต ศาสตราจารย์ ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีนโยบายในการพัฒนามหาวิทยาลัยสีเขียวส่งเสริมธรรมชาติสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาด้านจิตใจยกระดับคุณภาพชีวิตคนในสังคม 

     
      
ความเป็นมาของศูนย์ปฏิบัติธรรมมหาจุฬาอาศรม จากอดีตสู่ปัจจุบัน  มหาจุฬาอาศรมเกิดขึ้นในสมัยที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว  อุปเสโณ) อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ ถึงปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ โดยการระดมความคิดเห็นและรวบรวมทรัพย์สินจากแรงศรัทธาของประชาชนผู้มาปฏิบัติธรรม ณ สำนักธรรมวิจัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ชื่อเดิมในเวลานั้น) ได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์ซื้อที่ดินจำนวน ๗๙ ไร่ ๒ งาน ๓๑ ตารางวา ตั้งอยู่เลขที่ ๓๐๑ หมู่ ๗ ตำบลพญาเย็น อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นสวนมะพร้าวและลำไยของ นางชวนชื่น  ศิระวงษ์จัดซื้อในนามของมูลนิธิมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๗ ในราคา ๓๕๐,๐๐๐.๐๐ บาท (สามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการโอนเปลี่ยนชื่อโฉนดที่ดินจากมูลนิธิมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย การจัดซื้อที่ดินแปลงนี้ 
        
เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิและมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันพิจารณาเห็นว่าเป็นสถานที่สงบร่มรื่นดี มีภูเขา ป่าไม้ ลำธาร และห่างไกลจากความแออัดและสิ่งรบกวนที่ก่อให้เกิดมลภาวะ ซึ่งนับว่าเป็นสถานที่เหมาะสม และสัปปายะต่อการปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง โดยใช้ชื่อสำนักปฏิบัติว่า  “มหาจุฬาอาศรม” และได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติธรรมมหาจุฬาอาศรม “ตามคำสั่งมหาวิทยาลัย ที่ ๔๙๒/๒๕๕๓”  ซึ่งประกอบด้วยหน้าที่ ดังนี้ ประกอบด้วย ๑) ดำเนินการเร่งรัดพัฒนาอาคารและสถานที่ให้เป็นไปตามผังแม่บทพัฒนามหาจุฬาอาศรมให้สำเร็จวัตถุประสงค์ตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ๒) จัดทำแผนการใช้งานอาคารสถานที่ให้คุ้มค่ากับการลงทุน (๓) จัดหาทรัพยากรเพื่อพัฒนามหาจุฬาอาศรมให้เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมที่มีประสิทธิภาพตามนโยบายของมหาวิทยาลัยและตามประกาศมหาวิทยาลัย” จะเห็นได้ว่า การก่อตั้งมหาจุฬาอาศรม ถึงแม้จะเป็นไปตามข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยแต่เมื่อพิจารณา โดยเนื้อหาหลักของการก่อตั้งแล้ว ถือว่าเป็นไปเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรและผู้ที่สนใจทั่วไป
       
การบริหารจัดการศูนย์ปฏิบัติธรรม มหาจุฬาอาศรม เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงต้องบริหารจัดการศูนย์ปฏิบัติธรรมมหาจุฬาอาศรม ให้เป็นไปตามประกาศมหาวิทยาลัย เรื่อง ภารกิจ อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของส่วนงานในมหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๕๗ ประกอบด้วย “ปฏิบัติงานจัดกิจกรรม ส่งเสริม สนับสนุน บริการฝึกอบรมเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม วิปัสสนากรรมฐาน หรืออื่น ๆ และปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย” ในปัจจุบันมหาจุฬาอาศรมมีชีวิตมีผู้บริหารมหาจุฬา รวมถึงญาติธรรมกัลยาณมิตรเข้าไปให้การอุปถัมภ์ สนับสนุน ส่งเสริมในด้านกายภาพถือว่ามีความพร้อมอย่างยิ่งเพื่อเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาในด้านพฤติภาพ ด้านจิตภาพ และด้านปัญญาภาพ สำหรับพระสงฆ์และเด็กเยาวชนรวมถึงบุคคลทั่วไป ยิ่งในภาวะปัจจุบันมีการส่งเสริมพุทธเกษตรรักษาธรรมชาติและส่งแวดล้อม มุ่งสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและสร้างความมั่นคงทางด้านจิตใจเป็นปรับเพื่อให้สามารถอยู่รอดในภาวะปัจจุบัน ยังมีฝายเพื่อชีวิตซึ่งสอดรับกับการพัฒนาร่วมกับชุมชนอย่างสันติสุข     
       
ดังนั้นเมื่อพระครูภาวนาสารบัณฑิต ดร. ผู้อำนวยการส่วนธรรมนิเทศ มจร ในฐานะกำกับดูแลมหาจุฬาลงอาศรม ได้มอบหมายให้พระครูปลัดอุทัย พลเทโว ดร. รองผู้อำนวยการส่วนธรรมนิเทศ มจร รับผิดชอบดูแลมหาจุฬาอาศรมอย่างใกล้ชิด มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เพราะท่านพระครูปลัดอุทัย พลเทโว ดร. ถือว่าเป็นพระสงฆ์รุ่นใหม่ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนอุปถัมภ์จากผู้บริหารและญาติธรรมอย่างดียิ่ง พัฒนามหาจุฬาอาศรมอย่างต่อเนื่องเป็นที่ประจักษ์อย่างยิ่งซึ่งสนองงานอย่างดียิ่ง 

จึงสรุปได้ว่า มหาจุฬาอาศรมมีชีวิตเพราะเป็นต้นแบบของศูนย์วิปัสสนากรรมฐานพัฒนาจิตใจ  เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติและพุทธเกษตรสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สอดรับกับนโยบายของท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรูปปัจจุบัน  ทำให้มหาจุฬาอาศรมพลิกโฉมปรับสร้างความมั่นคงทางด้านจิตใจและสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารเป็นต้นแบบของชุมชนต่อไป 

หน้าแรก » การศึกษา