วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 06:31 น.

การศึกษา

สอศ. เดินหน้าส่งนศ.ฝึกงานฟาร์มปศุสัตว์เดนมาร์ก

วันอาทิตย์ ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2564, 14.12 น.
สอศ. เดินหน้าส่งนศ.ฝึกงานฟาร์มปศุสัตว์เดนมาร์ก
 
“ราชอาณาจักรเดนมาร์ก”  ถือได้ว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ประชากรมีคุณภาพชีวิตสูงเป็นลำดับต้นๆของโลก และมีตัวชี้วัดประสิทธิภาพในอันดับที่สูงทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพ การคุ้มครองเสรีภาพพลเมือง ธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย และความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยเมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลเดนมาร์กได้ประกาศคลายมาตรการป้องกันโควิด และเปิดโอกาสให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติอีกครั้ง ซึ่งสถานการณ์โควิดในเดนมาร์กปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณหลักร้อยต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่เพียงหลักหน่วย ขณะที่มีประชากรที่เข้ารับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส มากถึง 76.2% ของประชากรทั้งหมด และ 73.8%สำหรับผู้เข้ารับวัคซีนครบโดสแล้ว ซึ่งถือได้ว่า เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรเข้ารับวัคซีนโควิดแล้วมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
 
 
ดร.สุเทพ  แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เริ่มดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างสอศ. กระทรวงศึกษาธิการ กับ สำนักงาน Travel to Farm ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดองค์การเกษตรของราชอาณาจักรเดนมาร์ก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การทำงานในฟาร์มปศุสัตว์ของนักศึกษา โดยแต่ละปีจะมีนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการประมาณ 10-15  คน ระยะเวลาในการฝึกงาน 12 -18 เดือน
 
ปัจจุบัน มีนักศึกษาที่ผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพจากโครงการนี้แล้ว ประมาณ 420 คน ได้รับความรู้และประสบการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีการผลิตโคนมและสุกรที่ทันสมัย โดยขณะฝึกงาน นักศึกษาจะได้รับเงินค่ายังชีพเป็นค่าตอบแทนประมาณเดือนละ 50,000 บาท ภายหลังหักค่าภาษีและค่าใช้จ่ายจะเหลือประมาณ 30,000 บาท ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ในการตั้งต้นประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือศึกษาต่อในประเทศไทย จนจบ  ชั้น ปวส. 2 และระดับปริญญาตรีได้ โดยนักศึกษาจะพำนักอาศัยอยู่กับครอบครัวเกษตรกรชาวเดนมาร์ก ในลักษณะสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว จะได้เรียนรู้วิชาการทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ นอกเหนือจากนี้ นักศึกษายังจะได้รับประสบการณ์การใช้ชีวิตในต่างประเทศ รู้จักปรับตนเองให้เข้ากับผู้คนที่แตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม ตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ สำหรับปี พ.ศ. 2564 นี้ รัฐบาลเดนมาร์ก ได้ตอบรับนักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพมากกว่าทุก ๆ ปี ณ ขณะนี้มียอดตอบรับถึง 24 คนแล้ว และอยู่ระหว่างนักศึกษาเดินทางไปเข้าร่วมโครงการ ซึ่งถือได้ว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จและพร้อมก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-เดนมาร์กในความร่วมมือปีที่ 27 ต่อไป
 
ด้าน นางพัชรา  วัฒนะ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ ผู้ดูแลโครงการความร่วมมือจัดส่งนักศึกษาฝึกงานฟาร์มปศุสัตว์ ณ ราชอาณาจักรเดนมาร์ก กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการนี้ต่อมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว มีการดำเนินการเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน โดยดำเนินการสอบคัดเลือกนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปวส. 1 สาขาสัตวศาสตร์ และสัตวรักษ์ ไม่จำกัดเพศ อายุไม่ต่ำกว่า 19 ปีบริบูรณ์ ตามข้อกำหนดของฝ่ายเดนมาร์ก ซึ่งในแต่ละปี มีนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกได้เดินทางไปฝึกงานฟาร์มปศุสัตว์ ได้แก่ ฟาร์มโคนม และฟาร์มสุกรของเกษตรกรเครือข่ายสมาชิก Danish Farmers Union เป็นระยะเวลา 1 ปี จำนวนปีละประมาณ 10 – 15 คน โดยนักศึกษาที่ผ่านการสอบคัดเลือกต้องเข้ารับการฝึกอบรมภาษาอังกฤษ เพื่อเข้ารับการทดสอบภาษาอังกฤษ IELTS และต้องได้คะแนนผลการสอบ ระดับคะแนนไม่น้อยกว่า 3.0 ซึ่งเป็นเกณฑ์ข้อกำหนดของฝ่ายเดนมาร์ก รวมทั้งไปฝึกทักษะการปฏิบัติงานในฟาร์มสุกร หรือฟาร์มโคนม ตลอดจนการฝึกอบรมภาษาอังกฤษด้วย เพื่อให้มีความพร้อมในเบื้องต้นในการเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานจริง ณ เดนมาร์ก ซึ่งนักศึกษาจะได้รับความรู้เกี่ยวกับประเทศเดนมาร์กในด้านต่าง ๆ  ได้แก่ สังคมความเป็นอยู่ การใช้ชีวิต การปรับตัวในการดำเนินชีวิตกับครอบครัวเกษตรกรเดนมาร์ก และการเตรียมตัวการเดินทางไปฝึกงาน ทั้งนี้ เมื่อนักศึกษาฝึกงานครบกำหนด 1 ปีแล้ว จะต้องเดินทางกลับมาศึกษาต่อในระดับปวส. 2 ที่สถานศึกษาเดิม อีกประมาณ 1 เทอม หรือ 1 ปี จนจบการศึกษาตามที่ระเบียบและวิธีการที่สถานศึกษากำหนด 
 
 
 
email ข่าวการศึกษา เยาวชน ศิลปวัฒนธรรม  saowaporn@hotmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com

หน้าแรก » การศึกษา